Director’s Note: 16: บันทึกจากการประชุม Thailand Sustainable Development Forum 2022

สวัสดีครับทุกท่าน

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนสำคัญในภาควิชาการที่ทาง SDG Move เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ประการแรกคือ การประชุม Thailand Sustainable Development Forum 2022

| Thailand Sustainable Development Forum 2022 คืออะไร มีกิจกรรมอะไรบ้าง

การประชุม ‘Thailand Sustainable Development Forum (TSDF) 2022‘ เป็นโครงการที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ SDG Move ร่วมกันจัดขึ้นภายใต้เครือข่าย Sustainable Development Solutions Network Thailand (SDSN Thailand) กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีที่สนับสนุนการสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ

  1. เพื่อสร้างกลไกในการนำข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ไปสู่การกำหนดวาระนโยบาย
  2. เพื่อส่งเสริมการสร้างและจัดการความรู้ระหว่างภาคส่วน ในการทำความเข้าใจสถานการณ์และช่องว่างการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย
  3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและภาคส่วนต่าง ๆ
  4. เพื่อสร้างความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

กิจกรรมดังกล่าวออกแบบให้เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เป็นวงจรสุวัฏจักรที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการเข้าใจสถานการณ์ ระบุช่องว่างของการดำเนินงาน ร่วมพัฒนาทางออกและจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้ขับเคลื่อนต่อไป กระบวนการที่เกิดขึ้นเน้นให้เป็นกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วนตลอดกระบวนการ และมุ่งหมายให้กระบวนการจัดการงานเป็นพื้นที่เรียนรู้ข้ามภาคส่วน ผลลัพธ์ของกระบวนการควรมีลักษณะที่มุ่งผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง และได้ผลเป็นการจัดทำรายงาน ‘The SDGs and the Future of Thailand 2022

ในโครงการนี้เรามอง SDGs ผ่านกรอบใหม่ มิใช่ 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย แต่ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า Transformation Themes ซึ่งช่วยให้เรามอง SDGs ในแบบที่เชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น แนวคิดดังกล่าวถูกเสนอทั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General 2019) และนักวิชาการระดับนานาชาติ (Sachs et al. 2019) สำหรับในประเทศไทย เราได้ทดลองแบ่ง SDGs ออกเป็น 5 Transformation Themes และแต่ละธีมเราได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคีร่วมจัดหลายองค์กรดังต่อไปนี้

  • Theme 1: Human Wellbeing and Capabilities มี Co-organizers คือ IHPP และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • Theme 2: Sustainable and Just Economies มี Co-organizers คือ คณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • Theme 3: Energy Decarbonization with Universal Access มี Co-organizers คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • Theme 4: Urban and Peri-urban Development มี Co-organizers คือ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Theme 5: Sustainable Food, Land, Water and Ocean มี Co-organizers คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

กิจกรรมที่ผ่านมามีทั้งหมด 4 ครั้ง โดยเริ่มจาก

กิจกรรมที่ 1 | Pre-forum of Thailand Sustainable Development Forum 2022: Setting the Scene

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 อันเป็นงานที่จัดขึ้นเปิดตัวโครงการและ ‘เซ็ต’ ให้เกิดบทสนทนาที่เกี่ยวกับบทบาทของภาควิชาการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กิจกรรมีนี้มี 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการกล่าวปาฐกถาจากองค์ปาฐก 2 ท่าน คือ ศาตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ Kate Sutton ผู้อำนวยการ UNDP Regional Innovation Centre for Asia and the Pacific บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Demand of Intersectoral Solutions Platform for SDG Implementation” ช่วงที่สองเป็นการเสวนาในหัวข้อ “นับถอยหลังก่อนปี 2563 ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: บทบาทของแต่ละภาคส่วนและการนำ ‘ความรู้’ มาขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย มีวิทยากร 4 ท่านที่เป็นนักวิชาการเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมให้ความคิดเห็น ประกอบด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ​สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และคุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

กิจกรรมที่ 2,3 และ 4 | กิจกรรม Working Group Meeting ต่อเนื่อง มีรายละเอียดโดยสังเขปคือ

  • กิจกรรมที่ 2 – การประชุมระดมความคิดเห็นจากภาควิชาการ (Expert Working Group Meeting) เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับแต่ละ Transformation Theme ประเมินข้อมูลที่ใช้ในการอธิบายสถานะที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเสนอประเด็นย่อยที่มีความสำคัญ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 มีผู้เข้าร่วมราว 70 คน
  • กิจกรรมที่ 3 – การประชุมระบบความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder Meeting) เพื่อพิจารณาประเด็นย่อยที่สำคัญและชี้ช่องว่างในระบบสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs (SDG System Building Block) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คน
  • กิจกรรมที่ 4 – การประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับสูง (High-Level Experts Meeting) โดยในการประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานด้านการวิจัย หน่วยงานที่รับผิดชอบการขับเคลื่อน SDGs และองค์กรระหว่างประเทศ ประมาณ 60 คน เพื่อให้ความเห็นและคำแนะนำกับผลของการประชุมครั้งที่ 2 และ 3 และให้ข้อเสนอแนะกับการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2565

กิจกรรมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปเป็นการจัดทำรายงานและรับฟังความคิดเห็นจาภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างรายงานอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อนำเสนอรายงานดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดกิจกรรม High-Level Political Forum on Sustainable Development ในห้วงเวลาเดียวกัน

| ความสำคัญของงาน Thailand Sustainable Development Forum 2022

งาน Thailand Sustainable Development Forum 2022 หรือ TSDF 2022 น่าจะเป็นงานแรก ๆ นับตั้งแต่มีการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ตั้งแต่ปี 2016 ที่มีนักวิชาการจากหลากหลายสาขามาเข้าร่วมประชุมและหารือกันในเรื่อง SDGs ก่อนหน้านี้การหารือประเด็นดังกล่าวมักจะมีลักษณะเป็นการพูดคุยเชิงประเด็นภายใต้ร่ม SDGs มากกว่า และนักวิชาการที่เข้าร่วมมักจะจำกัดอยู่ในสาขาที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น

นอกจากนี้ งานนี้ยังเป็นงาน SDGs งานแรกที่เราเปลี่ยนวิธีการ Framing SDGs จากเดิมที่มอง SDGs เป็น 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย ซึ่งมีจำนวนมากและทำให้เห็นปัญหาแยกส่วนกัน มาเป็นการมองแบบ Transformation Theme ซึ่งนับว่าเป็นการปรับการมองที่ทันความก้าวหน้าทางวิชาการในระดับโลก และจากเสียงสะท้อนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้เชี่ยวชาญก็พบว่า การมองลักษณะนี้ทำให้สามารถทำความเข้าใจและดำเนินการเกี่ยวกับ SDGs ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีจำนวนประเด็นที่น้อยลงและเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ประการต่อมา งาน TSDF 2022 พยายามที่จะไปให้ไกลกว่าการหาเป้าหมายหรือเป้าหมายย่อยที่เป็นสีแดง (สถานะวิกฤต) แต่พยายามจะมองเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ โดยใช้กรอบแนวคิดที่เรียกย่อ ๆ ว่า ‘INSIGHT’ ซึ่งเป็น 7 องค์ประกอบของระบบสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ที่ทาง SDG Move พัฒนาร่วมกับทาง IHPP อันประกอบด้วย

  • I – Institutional and Policy Coherence
  • N – Network and Partnership
  • S – Science Technology and Innovation
  • I – Information System and Statistics
  • G – Governance and Leadership
  • H – Human Resource and Capacity Building
  • T – Treasury and Finance for Development

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในหลายประเด็นข้างต้นนั้นมีหลายส่วนที่อาจจะสามารถเข้าไปเสริมกับกรอบแนวคิดเรื่อง Thailand SDG Roadmap (Meesub 2020) ของทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ และการพัฒนาองค์ประกอบในกรอบ INSIGHT น่าจะมีส่วนในการช่วยในการขยับขยายให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางยิ่งขึ้นสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมด้วย

ประเด็นสุดท้าย งาน TSDF 2022 คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มของการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน SDGs ของภาควิชาการและภาคประชาสังคมที่ทำงานวิชาการอย่างเป็นระบบ ในช่วงเวลาอีก 9 ปีที่เหลืออยู่นี้ โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการประชุมทุกปีเพื่อทบทวนสถานการณ์ความก้าวหน้าและร่วมกันเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์รวมถึงสร้างให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่แน่นแฟ้นและอยู่บนฐานของหลักฐานและหลักการทางวิชาการต่อไป


บรรณานุกรม

Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General. 2019. “Global Sustainable Development Report 2019: The Future Is Now – Science for Achieving Sustainable Development.” United Nations, New York. https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/24797GSDR_report_2019.pdf.

Meesub, Jessada. 2020. “Thailand’s SDG Roadmap.” October 20, 2020. https://sdgs.nesdc.go.th/thailands-sdg-roadmap/.

Sachs, Jeffrey D., Guido Schmidt-Traub, Mariana Mazzucato, Dirk Messner, Nebojsa Nakicenovic, and Johan Rockström. 2019. “Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals.” Nature Sustainability 2 (9): 805–14.

Last Updated on กุมภาพันธ์ 8, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น