สำรวจบทบาทของศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ในการร่วมมือและพัฒนากลยุทธ์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย

กลยุทธ์บ่มเพาะธุรกิจเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยลดอัตราความล้มเหลวของธุรกิจขนาดย่อมและช่วยสนับสนุนธุรกิจที่เติบโต ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับประเทศไทยเริ่มขยับขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการและสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังจากวิกฤติทางการเงินในเอเชีย ปี 2540 หรือ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางระดับล่างไปสู่เศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางระดับบน

ทั้งนี้ หนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจของการบ่มเพาะธุรกิจ นั่นคือการใช้ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหัวเรือหลักในการอบรมและเผยแพร่ความรู้ และประสานงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาล มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือไตรภาคี (triple helix) ที่จะสร้างพลังในการผลักดันให้ผู้ประกอบการมีทักษะความรู้ที่ครอบคลุม เข้าถึงเครื่องมือได้สะดวก และสามารถเข้าสู่ตลาดธุรกิจ นวัตกรรม และเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางดำเนินการของศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ ศ. ดร.จารุณี วงศ์ลิมปิยะรัตน์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินงานวิจัย “The innovation incubator, university business incubator and technology transfer strategy: The case of Thailand” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์การบ่มเพาะธุรกิจและทบทวนบทบาทของศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม (innovation incubator) และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (university business incubator: UBI) ในการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศไทย 

ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การดำเนินการการวิจัยของ ศ. ดร.จารุณี มีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่

  • การวิจัยใช้ข้อมูลจากการรวบรวมบทสัมภาษณ์และการสำรวจตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาของไทย
  • กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษา ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2) ศูนย์บ่มเพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ 3) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
  • การสัมภาษณ์ใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured questionnaire) โดยเน้นออกแบบสอบถามเพื่อสำรวจความเข้าใจของกลุ่มไตรภาคี (รัฐบาล มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม) ในการทำงานร่วมกันบนฐานการประสานความร่วมมือไตรภาคี ซึ่งกลุ่มผู้ถูกสัมภาษณ์ อาทิ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิเคราะห์นโยบาย เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะ และผู้จัดการฝ่ายวิจัย
  • การวิเคราะห์มุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาและศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีในสถาบันอุดมศึกษาในการยกระดับกระบวนการการนำเข้าเทคโนโลยีสู่ตลาด
  • การวิเคราะห์วางอยู่บนฐานของแบบจำลองการประสานความร่วมมือไตรภาคี และการพิจารณานโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการนำเข้านวัตกรรมสู่ตลาด ( innovation commercialization) ในประเทศไทย 

งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบโดยสรุปที่น่าสนใจ ได้แก่

  • รัฐบาลไทยมีนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกิจการ เช่น แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Promotion Master Plan)   แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน​​​ (Bank of Thailand Financial Sector Master Plan) และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (National Economic and Social Development Plan) 
  • กระทรวงที่มีนโยบายและการดำเนินการเรื่องการบ่มเพาะทางธุรกิจและนวัตกรรมมี 5 กระทรวง ได้แก่ 1) กระทรวงศึกษาธิการ อาทิ การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 9 แห่ง ครอบคลุม 56 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย 2) กระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ การออกนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อย 3) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาทิ โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (Company Directed Technology Development Program: CD) 4) กระทวงพาณิชย์ อาทิ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาวิสาหกิจไทย และ 5) กระทรวงการคลัง อาทิ การออกนโยบายลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาวิสหากิจ
  • กลุ่มภาคีด้านเทคโนโลยีของอุทยานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ได้เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการสนับสนุน
  • โครงการบ่มเพาะเป็นหนึ่งในกลไกเชิงนโยบายหลักในการสนับสนุนนวัตกรรม เนื่องจากจะเป็นฐานสำคัญที่จะสนับสนุนคำเเนะนำ เงินทุน เเละช่องทางการพัฒนาเเก่นวัตกรหรือผู้ประกอบการ
  • ลักษณะการส่งเสริมความเชื่อมโยง (ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล-มหาวิทยาลัย-อุตสาหกรรม) ผ่านระบบประสานความร่วมมือไตรภาคี เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการพัฒนาและทำให้นวัตกรรมเกิดการกระจายอย่างแพร่หลาย 

นอกจากนี้  ศ. ดร.จารุณี ได้เสนอแนะว่าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างมีปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ 

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “The innovation incubator, university business incubator and technology transfer strategy: The case of Thailand” ได้สะท้อนว่าบทบาทของศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการริเริ่มและดำเนินการธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่ได้รับผลดีจากการดูแลของศูนย์บ่มเพาะ ขณะเดียวกันตัวแบบการประสานความร่วมมือไตรภาคีก็เป็นแนวทางที่พื้นที่หรือภาคส่วนอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเเละกลไกการขับเคลื่อน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงภายในปี 2573 ให้มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนา ต่อประชากร 1 ล้านคน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐและภาคเอกชน
 – (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

ข้อมูลงานวิจัย:  Jarunee Wonglimpiyarat. (2016). The innovation incubator, university business incubator and technology transfer strategy: The case of Thailand. Technology in Society.46. 18-27. https://doi.org/10.1016/j.techsoc.2016.04.002
ชื่อผู้วิจัย -สังกัดศ. ดร.จารุณี วงศ์ลิมปิยะรัตน์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น