การสนับสนุนเงินทุนในโครงการขจัดความยากจน สามารถลดจำนวนการทารุณกรรมในเด็กและการละเลยทอดทิ้งเด็กได้

งานศึกษาล่าสุด State Spending on Public Benefit Programs and Child Maltreatment โดยกุมารแพทย์และผู้ที่ศึกษาปัจจัยในวัยเด็กที่มีผลต่อสุขภาพเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ตีพิมพ์ใน Pediatrics ระบุว่า การที่รัฐใช้เงินลงทุนหรือใช้จ่ายไปกับโครงการขจัดความยากจนในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ จะสามารถลดการทารุณกรรมเด็กและการละเลยทอดทิ้งเด็ก (child abuse and neglect / maltreatment) รวมถึงการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยลดปัญหาการทารุณกรรมในเด็กซึ่งเป็น “วิกฤติทางสาธารณสุข” ของสำหรัฐฯ ได้

การศึกษาที่ว่านี้ สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการทารุณกรรมเด็กที่หน่วยงานรัฐมีข้อมูล กับ รายจ่ายต่อหัวต่อปีในโครงการที่ช่วยเหลือด้านความยากจนของสหรัฐฯ (Benefit programs) ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2560 โครงการให้ความช่วยเหลือที่ว่านี้ มีอาทิ การให้เงินเปล่า การจัดหาที่พักอาศัย – ของใช้/อุปกรณ์ การให้ความช่วยเหลือด้านการดูแลเด็ก การอนุญาตให้สามารถขอคืนเครดิตภาษีเงินปันผล และการรับความช่วยเหลือทางการแพทย์ อาทิ โครงการ Medicaid ของสหรัฐฯ

ข้อค้นพบจากการศึกษาชี้ว่า หากรัฐเพิ่มงบประมาณการลงทุน/ใช้จ่ายในโครงการความยากจนดังกล่าว อีกเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว ๆ 30,000 บาท) ต่อหัวต่อปี หรือเพิ่มขึ้นอีก 13% ใน 50 มลรัฐและกรุงวอชิงตันดีซี ก็จะสามารถช่วยให้ในทุกปี มีจำนวนเด็กที่จะเผชิญกับการทารุณกรรมลดลง 181,000 คน การตกเป็นเหยื่อลดลง 28,500 คน จำนวนเด็กที่ต้องเข้าศูนย์ดูแลเด็กลดลง 4,100 คน รวมถึงการตายของเด็กลดลง 130 คน ในทางกลับกัน การลดจำนวนกรณีการทารุณกรรมในเด็กลงได้ จะก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศกลับมาด้วย

ปัญหาการทารุณกรรมเด็กสำหรับสหรัฐฯ เป็น “วิกฤติทางสาธารณสุข” หากถามเด็กที่อายุครบ 18 ปี จะพบว่า อย่างน้อย 1 ใน 8 เคยเผชิญกับการทารุณกรรมหรือถูกทอดทิ้งมาแล้ว ประสบการณ์เช่นนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่จะย่ำแย่ลง เมื่อทรัพยากรมนุษย์อยู่ในภาวะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นและสภาพเศรษฐกิจ-สังคมในภาพรวมด้วย และยิ่งเป็นที่น่ากังวลเมื่อการระบาดของโควิด-19 เข้ามาเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดกรณีของการทารุณกรรมเด็กมากขึ้น

การศึกษาชิ้นจึงหวังให้เป็นตัวอย่างของงานที่ชิ้ให้เห็นประโยชน์ของโครงการให้ความช่วยเหลือ ที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ซึ่งมากไปกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น คือ ไม่ใช่เป็นการช่วยลดความยากจนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงประเด็นด้านสุขภาพในวัยเด็กและในภายหลังที่โตเป็นผู้ใหญ่ด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.b) กรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศบนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนคนยากจน (pro-poor) เพื่อสนับสนุนการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
-(3.4) ในด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
-(16.2) ในด้านการยุติการข่มเหง ความรุนแรง และการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

แหล่งที่มา:
State spending on anti-poverty programs could substantially reduce child abuse and neglect (The conversation)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น