SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 11 – 17 พฤศจิกายน 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

การประชุม G20 ชาติสมาชิกร่วมรับรอง ประณาม ‘การรุกราน’ ยูเครนของรัสเซีย

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ณ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในฐานะผู้นำประเทศเจ้าภาพ เรียกร้องให้ทุกชาติสร้างความสามัคคีและสร้างกรอบการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก แม้จะเผชิญความขัดแย้งจากสงครามก็ตาม ทั้งนี้ วันสุดท้าย การประชุม ผู้นำกลุ่ม G20 ได้มีการออกแถลงการณ์แสดงถึงความไม่พอใจ ‘อย่างรุนแรงที่สุด’ ต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งชาติสมาชิกส่วนใหญ่ได้ให้การรับรอง และรัสเซียยังไม่มีการออกมาตอบโต้ เนื้อหาแถลงการณ์นี้ ได้เน้นย้ำถึงการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมชี้ว่าการขู่คุกคามด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ประเด็นนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ 

เข้าถึงได้ที่นี่ : G20 leaders declaration denounces ‘Russian aggression’ in Ukraine และ ผู้นำ G20 เผยแพร่แถลงการณ์ ประณามรัสเซียรุกรานยูเครน 

สารที่ไม่อาจส่งไปถึงของผู้ชุมนุม ‘What happened in Thailand’ สู่ผู้นำ APEC

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก 2565 ซึ่งเนื้อหาสาระการประชุมครั้งนี้ ยังคงเป็นที่น่าจับตามองถึงยุทธศาสตร์ BCG ของรัฐบาลที่ได้นำเสนอ อาจเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนโดยไม่เห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนหรือไม่ ทำให้มวลชน นัดรวมตัวกันจัดกิจกรรม ‘What happened in Thailand’ เพื่อยื่นหนังสือถึงตัวแทนชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม APEC เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการจับกุมผู้เห็นต่างการเมือง รวมถึงการใช้กฎหมายปิดปาก และการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ท้ายที่สุด ความหวังที่สารนี้จะส่งถึงมือตัวแทนชาติต่าง ๆ กลับก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดกั้นไม่ให้มีการเดินขบวน หรือตัวแทนเข้าไปบริเวณที่ประชุม  ประเด็นนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมาย

เข้าถึงได้ที่นี่ : ชุมนุม What Happened in Thailand กับข้อความที่ส่งไม่ถึงผู้นำ APEC – Thairath Plus

COP 27 ระบุมิอาจแยกการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพกับข้อตกลงปารีสออกจากกัน

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ การประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ได้มีการกล่าวถึงประเด็น วิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเด็นมีแนวทางการปฏิบัติแยกออกจากกัน ซึ่งความเป็นจริงแล้วนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) หากไม่มีการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเร่งด่วน โดย UNEP อธิบายว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งความพยายามที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่า การทำป่าให้เสื่อมโทรม (forest degradation) และการฟื้นฟูระบบนิเวศ มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีได้ ประเด็นนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าถึงได้ที่นี่ :  COP27: Protecting biodiversity is protecting the Paris Agreement | | 1UN News

ASEAN มีบทบาทสำคัญขจัดความขัดแย้งและผลักดันเศรษฐกิจโลกเข้มแข็ง

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 12 กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวถึง การที่ประเทศในซีกโลกใต้ (Global South) กลุ่มทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอนตาร์กติก “ถูกทำลาย” จากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด -19 วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การจำกัดการเข้าถึงอาหาร พลังงาน การเงิน และปัญหาความไม่มั่นคงระดับโลก ทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นยากที่จะยุติความขัดแย้งเดิม อาทิ ความขัดแย้งในพม่า รวมถึงการแบ่งแยกของเศรษฐกิจโลกที่แบ่งออกเป็นสองส่วน คือจากสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่ง António มองว่าประเทศสมาชิกของกลุ่มภูมิภาคอยู่ในสถานะที่ดีในการช่วยเชื่อมต่อสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ การจะฝ่าฟันอุปสรรคนี้ได้จำเป็นต้องใช้แนวทางพหุภาคีในการแก้ไขทางภูมิรัฐศาสตร์ และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กลับมาสู่ทิศทางตามเป้าหมาย ซึ่งองค์กรระดับภูมิภาค รวมถึงอาเซียน นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งข่าวความเคลื่อนไหวนี้เกี่ยวข้องกับ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.8 เสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของธรรมาภิบาลระดับโลก และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  17.19 ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนามาตรการวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่นี่ :  ASEAN States ‘well-placed’ to advance human rights, freedoms and a strong global economy

“WHO” ชื่นชมประเทศไทย ประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุข 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ผลการประเมินสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า International Health Regulations Joint External Evaluation (IHR-JEE) ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งมีประเด็นทางเทคนิค 19 ด้าน จำนวน 56 ตัวชี้วัด ได้รับคะแนนที่แสดงถึงความเชื่อมั่นของความก้าวหน้าในการพัฒนาสมรรถนะหลักด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.25 จากคะแนนเต็ม 5 ตัวชี้วัดส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่มีผลงานประจักษ์และยั่งยืน ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-of-government and whole-of-society response) ในทุกระดับ โดยตัวอย่างที่โดดเด่นในด้านการเฝ้าระวังคัดกรองโรคผู้ป่วยโควิด-19 และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการสนับสนุนที่ดี สอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่นี่ : องค์การอนามัยโลก ชื่นชมไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 (IHR 2005) มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ระดับโลก – สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤศจิกายน 21, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น