Q&A โจทย์วิจัย: โจทย์วิจัยกว้างไปไหม?

Q: โจทย์วิจัยที่ประกาศออกไปกว้างไปไหมเมื่อเทียบกับงบประมาณและเวลาที่มี ?

A: ผมมั่นใจว่า หากท่านอ่านชื่อของโจทย์วิจัย “การสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทยและทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมาย” ท่านต้องคิดว่าเป็นโจทย์ที่กว้างใหญ่ไพศาลมากแน่นอน เพราะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มีถึง 17 ข้อ

แต่ในความเป็นจริง มันไม่กว้างขนาดนั้นครับ

หากเราดูในรายละเอียดของโจทย์วิจัย (ท่านสามารถดูรายละเอียดของโจทย์วิจัย และแบบฟอร์มตัวอย่างสำหรับการเขียน proposal ได้ที่นี่) จะพบว่า มันไม่กว้างอย่างที่คิด ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ครับ

ประการแรก ในรายละเอียด โจทย์วิจัยกำหนดให้ผู้วิจัยเลือก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมา 1 เป้าหมาย จาก 17 เป้าหมายครับ ขั้นนี้ก็นับว่าลดความกว้างขวางลงมาได้เยอะพอสมควรครับ

ประการที่สอง ใน 1  เป้าหมายนั้น จะมีประเด็นต่าง ๆ ตามเป้าประสงค์อยู่ ซึ่งเป้าหมายจะกว้างหรือแคบนั้นขึ้นกับว่า เป้าหมายนั้นมีเป้าประสงค์ที่ครอบคลุมประเด็นกว้างขวางมากขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น

ประเด็นของ Goal 2: Zero Hunger – ครอบคลุมประเด็น

  • การเข้าถึงอาหารปลอดภัย,
  • ภาวะทุโภชนาการในเด็กและหญิงมีครรภ์,
  • การเพิ่มผลิตภาพและรายได้ของเกษตรกรรายเล็ก,
  • ระบบการผลิตอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืนและไม่เปราะบางกับ climate change,
  • ความหลากหลายทางชีวภาพและแบ่งปันผลประโยชน์ที่ยุติธรรมจากความหลากหลายทางชีวภาพ,
  • ความร่วมมือระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาชนบทและภาคเกษตร
  • การแก้ไขและป้องกันการบิดเบือนสินค้าเกษตรโลก
  • มาตรการสร้างหลักประกันให้ตลาดที่เกี่ยวข้องทำงานได้

หรือบางประเด็นที่เหมือนว่าจะใหญ่โตมาก เช่น Goal 13: Climate Action นั้น จริงๆ แล้วครอบคลุมประเด็นไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ไปอยู่ใน Paris Agreement ประเด็นสำคัญของ Goal 13 ประกอบด้วย

  • การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อภัยพิบัติ
  • การบูรณาการมาตรการด้าน climate change เข้าไปอยู่ในนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
  • พัฒนาการศึกษาและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่อง Climate Change และภัยพิบัติ
  • ประเด็นเรื่อง Green Climate fund
  • การเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในการรับมือกับ Climate Change โดยเฉพาะในกลุ่มที่เปราะบาง

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ climate change ในแง่ของสาเหตุและผลกระทบก็จะกระจายไปอยู่ตาม Goal อื่น ๆ (เช่น การปล่อยก๊าซ CO2 จากโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ใน Goal 9, การลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางน้ำ อยู่ใน Goal 6, การลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางน้ำที่มีตอ่เมือง อยู่ใน Goal 11, การลดผลกระทบจากความเป็นกรดของมหาสมุทรอยู่ใน Goal 14) เป็นต้น ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องแต่อยู่นอก Goal ที่พิจารณา ก็ไม่จำเป็นต้องรวมอยู่ในข้อเสนอ

ประการที่สาม  หากท่านยังมองว่า เป้าประสงค์เองก็ยังกว้างขวางมาก ขอให้ท่านดูลึกลงไปที่ระดับของตัวชี้วัด และ Metadata ของตัวชี้วัดที่ UN สนใจ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นเกี่ยวกับเป้าประสงค์นั้น ๆ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องตัวชี้วัดได้ที่นี่)

อย่างไรก็ดี ทางโครงการอยากขอให้ยึดเอาเป้าประสงค์ (Target) เป็นหลักไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นเครื่องพิจารณาว่าตัวชี้วัดใดที่จำเป็นต้องมีเพิ่มเติมหรือปรับปรุงในบริบทประเทศไทยบ้าง หากเราพิจารณาตัวชี้วัดตั้งแต่ต้นเลยอาจทำให้เราพลาดบางประเด็นที่สำคัญในบริบทของไทยที่เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์นั้นๆ ได้

ประการสุดท้าย แนวทางการวิจัยสำหรับโครงการนี้จะเน้นเรื่องของการ Review องค์ความรู้และข้อมูลทางสถิติที่มีอยู่แล้วและอาจรวมถึงการจัดวงประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ เก็บข้อมูล หรือทำการวิจัยพื้นฐาน สำหรับเฟสแรกนี้ เราต้องการหาสถานะปัจจุบันของ SDGs เท่านั้นเพื่อจะได้พิจารณาต่อว่าต้องทำอย่างไรต่อไปครับ

หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโจทย์วิจัย สามารถติดต่อเราได้ที่ sdgmove.th@gmail.com ครับ

Last Updated on ธันวาคม 20, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น