Director’s Note: 29: การจัดอันดับมหาวิทยาลัย Times Higher Education Impact Rankings และนัยยะเชิงนโยบายต่อกระทรวง อว.

สวัสดีครับทุกท่าน

สัปดาห์ที่แล้วมีการประกาศผลการจัดอันดับ Times Higher Education (THE) Impact Rankings 2023 ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามผลกระทบที่มหาวิทยาลัยสร้างเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,591 แห่ง จาก 112 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 1,406แห่ง 


01 – THE Impact Rankings กับมหาวิทยาลัยไทย

สำหรับประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยจำนวนทั้งสิ้น 65 แห่งที่ส่งข้อมูลและได้รับการจัดอันดับ เพิ่มขึ้นจาก 51 แห่งเมื่อปีที่แล้ว ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทุกประเภท ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน ราชภัฏ ราชมงคล หรือกระทั่งมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ยังเข้าร่วมการจัดอันดับในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและการส่งเสริมของคณะกรรมการ Reinventing University ของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคลมีการส่งข้อมูลเข้าร่วมการจัดอันดับนี้ เนื่องจากนี่เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่ให้ความสำคัญกับ action ของมหาวิทยาลัยเป็นส่วนสำคัญซึ่งสะท้อนการดำเนินการจริงของมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคลซึ่งอยู่ในท้องถิ่นมากกว่าเรื่องการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

ผลการจัดอันดับของประเทศไทยนั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดใหญ่ ๆ ยังคงมีผลการจัดอันดับที่ดีมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลยังมีผลการจัดอันดับค่อนข้างตามหลัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นติดอันดับ 100 อันดับแรกของโลก ในขณะที่อีก 26 มหาวิทยาลัยกระจายอยู่ในช่วงอันดับ 101 – 1,000 ของโลก และส่วนที่เหลืออีกราว 35 มหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงอันดับ 1001+ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น มหาวิทยาลัยที่มีอันดับสูงที่สุดคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเดียวที่ติดอันดับในช่วง 401 – 600 ของโลก ในขณะที่ช่วงอันดับ 601 – 800 มีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด อยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส่วนอันดับช่วง 801 – 1000 มีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ดูอันดับมหาวิทยาลัยไทยตาม THE Impact Ranking เพิ่มเติมในบทความด้านล่าง

เมื่อพิจารณาแยกตามเป้าหมาย SDGs นอกเหนือจาก SDG 17 มหาวิทยาลัยไทยส่งข้อมูลเพื่อจัดอันดับในเป้าหมายที่ 4 Quality Education (52 มหาวิทยาลัย) เป้าหมายที่ 3 Good Health and Wellbeing (45 มหาวิทยาลัย) และ SDG 1 No Poverty (43 มหาวิทยาลัย) มากที่สุด 3 อันดับแรก ในขณะที่ส่งข้อมูลเพื่อจัดอันดับในเป้าหมายที่ 13 Climate Action (15 มหาวิทยาลัย) เป้าหมายที่ 14 Life below Water (19 มหาวิทยาลัย) และเป้าหมายที่ 10 Reduced Inequalities (21 มหาวิทยาลัย) น้อยที่สุด 3 อันดับสุดท้าย

สิ่งที่น่าสนใจคือ หากนำจำนวนของมหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับ 100 อันดับแรกของโลก (Top 100) มาหารด้วยจำนวนมหาวิทยาลัยที่ส่งข้อมูลในเป้าหมาย SDG นั้นทั้งหมด จะพบว่า เป้าหมาย 14 Life below Water เป็นเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยไทยที่ส่งติด Top 100 ถึง 7 มหาวิทยาลัยจาก 19 มหาวิทยาลัย คิดเป็น 36.84% รองลงมาคือเป้าหมายที่ 2 Zero Hunger ที่ติด Top 100 จำนวน 7 มหาวิทยาลัยจาก 26 มหาวิทยาลัยและ เป้าหมายที่ 7 Clean and Affordable Energy ที่ติด Top 100 จำนวน 7 มหาวิทยาลัยจากจำนวน 26 มหาวิทยลัยเท่ากัน คิดเป็น 26.92% ส่วนเป้าหมายที่ 10 Reduced Inequalities ไม่มีมหาวิทยาลัยไทยติด Top 100 เลย และเป้าหมายที่ 3 Good Health and Wellbeing มีมหาวิทยาลัยไทยติด Top 100 เพียง 3 มหาวิทยาลัยจาก 45 มหาวิทยาลัย และเป้าหมาย 13 Climate Action มีมหาวิทยาลัยไทยติด Top 100 เพียง 1 มหาวิทยาลัยจาก 15 มหาวิทยาลัย


02 – THE Impact Rankings กับการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ผ่านกลไกมหาวิทยาลัย 

คุณูปการประการสำคัญประการหนึ่งของ THE Impact Rankings คือการทำให้มหาวิทยาลัยไทยหันมาสนใจการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ในวงกว้าง พร้อมทั้งกระตุ้นให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการขยับเรื่อง SDGs ในฝั่งอุดมศึกษาบ้าง หลังจากที่มีการขยับในฝั่งของ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปพอสมควรโดยการนำSDG index บรรจุเป็นเป้าหมายของแผนววน.ของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 

อย่างไรก็ดี ความสนใจของกระทรวง อว. ในส่วนของอุดมศึกษายังคงเน้นหนักไปที่การให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการจัดอันดับ และยังขาดการนโยบายที่จริงจังในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

การดำเนินการเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ SDGs เป็นเพียงแค่เกมส์การจัดอันดับที่มหาวิทยาลัยเข้ามาเล่น มากกว่าจะเป็นการก้าวไปสู่การเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน

ตัวชี้วัดของ THE Impact Rankings เป็นตัวชี้วัดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในลักษณะของการเป็นแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง การออกแบบตัวชี้วัดของ THE Impact Rankings นั้นมิได้นำเอาตัวชี้วัดระดับโลกของ SDGs มาให้มหาวิทยาลัยดำเนินการโดยตรง แต่เป็นการออกแบบตัวชี้วัดใหม่บนหลักการของ Objective and Key Results (OKR) กล่าวคือ SDGs เป็น Objectives คำถามคือ ภายใต้บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนั้น อะไรคือผลผลิตหลักที่มหาวิทยาลัยทำได้เพื่อตอบโจทย์ SDGs ดังนั้นเราจะเห็นว่า ตัวชี้วัดของ THE นั้นเป็นตัวชี้วัดที่ตั้งอยู่บนฐานของบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือ วิจัย การเรียนการสอน การบริหารจัดการภายใน และการบริการสังคม และพยายามตอบว่า ในบทบาทเหล่านั้นมหาวิทยาลัยทำอะไรได้บ้าง 

ดังนั้นการพยายามทำข้อมูล THE Impact Rankings จะเป็นประโยชน์ในการสำรวจสถานะของมหาวิทยาลัยว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยของเรามีสถานะของการขับเคลื่อน SDGs เป็นอย่างไร โดยเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในไทย และมหาวิทยาลัยในโลก 

หลังจากสำรวจสถานะแล้ว มหาวิทยาลัยควรวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวตัวชี้วัดดังกล่าว เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งในระยะยาว การขับเคลื่อนอย่างแท้จริงจะเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับสูงได้เพราะในระยะยาวทุกมหาวิทยาลัยย่อมสามารถออกนโยบายและมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามตัวชี้วัดได้ แต่สิ่งที่ต้องอาศัยการดำเนินการจริงก็คือ งานวิจัยและการตีพิมพ์ การมีกิจกรรมจริงกับภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม การดำเนินการจริงเพื่อช่วยเหลือผู้พิการและกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษาได้จริง เป็นต้น 


03 – กระทรวง อว. ควรทำอะไรเพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไทยร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs?

ประการแรก ต้องส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าสู่ THE Impact Ranking ในลักษณะที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยพัฒนาตนเองไปสู่การขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนได้จริง สิ่งที่ควรดำเนินการมีดังนี้

  • ขยายการสมัคร Datapoint ของ THE เพื่อให้มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยเข้าถึงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ตนเองและเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยอื่น
  • มีโครงการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการจัดระบบและจัดทำข้อมูลเพื่อประเมิน Impact Ranking
  • จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อการขับเคลื่อนและเข้าสู่ Impact Rankings 

ประการที่สอง ต้องผลักดันให้เกิดการผนวก SDGs เข้าไปในภารกิจของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง สิ่งที่ควรดำเนินการมีดังนี้

  • มีนโยบายหรือขอความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย เช่น ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ของมหาวิทยาลัยทุกประเภท ให้มีมีนโยบายร่วมกันในบางประเด็นเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยในเชิงนโยบายและการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนพร้อม ๆ กัน 
  • ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNESCO ในการบูรณาการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผ่านการจัดการประชุม และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณะที่ดูแลฝ่ายวิชาการ พร้อมทั้งมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการติดตามประเมินผล
  • ระบบการจัดสรรทุนวิจัย (ระบบ ววน.) จะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการศึกษาที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มากกว่าแค่การสนับสนุนหน่วยงานรัฐให้ทำให้ตัวชี้วัดดีขึ้น แต่ควรเปิดกว้างให้มีการวิจัยที่ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย ทั้งประเด็นเชิงการสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย ประเด็นเชิงวิพากษ์และประเมินนโยบายของรัฐ ประเด็นเชิงหลักการและปรัชญาพื้นฐาน ประเด็นการศึกษาผลกระทบของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นต่อความสามารถในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเด็นในเชิงกลไกการขับเคลื่อน SDGs ที่อาจจะไม่ได้สะท้อนอยู่ในตัวชี้วัดแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน SDGs ในภาพรวม เป็นต้น
  • กระทรวง อว. ควรเป็นหัวหอกในการสร้างความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในทุกพื้นที่กับการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ (SDG Localization) เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นองค์รวม นอกจากนี้ยังควรมีบทบาทในการเสริมสร้างศักยภาพและหนุนเสริมทางเทคนิคและทรัพยากรแก่มหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกับขับเคลื่อนกับท้องถิ่น
  • กระทรวง อว. ควรสร้าง platform ในการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคประชาสังคม เพื่อให้ภาคประชาสังคมซึ่งทำงานขับเคลื่อนสังคมในด้านต่าง ๆ เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการที่จะสามารถช่วยหนุนเสริมงานของภาคประชาสังคมได้ ในขณะเดียวกันภาคมหาวิทยาลัยก็ได้โจทย์ใหม่ ๆ ในการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาอีกด้วย 

ประการสุดท้าย กระทรวง อว. ต้องตระหนักว่า กลไกอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียง SDG 9.5 แต่เป็นพลังสำคัญในการผลักดันทุก SDGs และควรก้าวออกมาเป็นผู้นำในการทำให้วงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย มิใช่เพียงกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่เป็นสติปัญญาของสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนควรเป็นหลักการร่มใหญ่ในการกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ครอบคลุม เคารพสิทธิมนุษยชน 


04 – สรุป

ความกระตือรือร้นของมหาวิทยาลัยไทยในการเข้าร่วมการจัดอันดับ THE Impact Rankings เป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เห็นว่า ประเด็น SDGs เป็นที่สนใจของมหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศและทุกประเภทแล้ว คำถามสำคัญคือเราจะทำให้กระแสของ Impact Rankings กลายเป็นการขับเคลื่อนที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยไทยเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างไร ในการนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้กำหนดทิศทางและอำนวยความสะดวกให้มหาวิทยาลัยไทยพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก

Last Updated on มิถุนายน 6, 2023

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น