Director’s Note: 13: สถานะ SDGs ประเทศไทย SDG Index vs รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563

สวัสดีวันอังคารครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่มีความตื่นเต้นสำหรับคนทำงานด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เนื่องจากเป็นสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดตัว ‘รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563‘ จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 

รายงานฉบับนี้นับเป็นรายงานทางการของประเทศไทยฉบับแรกที่พยายามทำการประเมินสถานะของเป้าหมายทั้ง 17 ข้อและเป้าหมายย่อยทั้ง 169 ข้อ ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามที่ทะเยอทะยานเป็นอย่างยิ่ง จากการติดตามการจัดทำรายงานนี้มาระดับหนึ่งทำให้ทราบว่าทาง สศช. ได้ระดมสรรพกำลังทั้งหมดที่มีภายในหน่วยงานมาทำรายงานฉบับนี้ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกผนวกเข้าไปในทุกหน่วยงานภายใน สศช. แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าเสียดายที่ในกระบวนการจัดทำอาจไม่ได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวางมากนัก

ภาพที่ 1 สถานะของ SDGs ระดับเป้าหมายและเป้าหมายย่อยตามรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563

รายงานฉบับนี้มีนัยยะต่อการเข้าใจสถานะของประเทศไทยอย่างไร ?

ประการแรก เป็นสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามการประเมินของ สศช. แม่ในเชิงหลักการมันจะเป็นรายงานทางการของประเทศไทยแต่ในทางปฏิบัติมันยังต้องผ่านกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อสร้างการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ อีกมาก  ซึ่งหากรายงานฉบับนี้ผ่านการปรับปรุงโดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ จะทำให้รายงานฉบับนี้กลายเป็นรายงานของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ประการที่สอง ก่อนหน้ารายงานฉบับนี้มีรายงานอย่างน้อยสองฉบับที่ทำการประเมินสถานะของประเทศต่าง ๆ เอาไว้รวมทั้งประเทศไทย ฉบับแรกคือ Sustainable Development Report ซึ่งมีดัชนี SDG Index ที่ทำการประเมินสถานะ SDGs ของประเทศต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2015 อีกฉบับหนึ่งคือรายงาน Asia and The Pacific SDG Progress Report โดยคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิกขององค์กรสหประชาชาติ (UNESCAP) ซึ่งจัดทำโดย  ซึ่งรายงานแต่ละฉบับก็นำเสนอข้อมูลที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็เป็นที่ยอมรับของนานาชาติและสาธารณะ ในหลายโอกาสรัฐบาลไทยยังอ้างผลการประเมินของทั้งสองและในฐานะที่เป็นสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยด้วย การมาของรายงานความก้าวหน้าฉบับนี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยเห็นสถานะของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเปรียบเสมือนมีแหล่ง้ขอมูลแหล่งที่ 3 มันเป็นตัวยืนยันข้อมูล 2 แหล่งข้างต้นได้นั่นเอง 

การวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายใดที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ SDGs วิกฤติหรือทำได้ดีอย่างไรจะเขียนในอีกบทความหนึ่งเพื่อให้สามารถเขียนได้เต็มที่

สำหรับ Director’s Note นี้จะขอนำการวิเคราะห์ของ สศช. ในรายงานความก้าวหน้าฯ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับ SDG Index แล้วลองดูว่าหากพยายามทำให้วิธีการกำหนดสีสถานะของเป้าหมาย SDGs มีความใกล้เคียงกันที่สุดแล้ว ผลที่ได้จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

ความแตกต่างระหว่าง SDG Index กับรายงานความก้าวหน้าฯ มีประเด็นที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

  1. ตัวชี้วัดที่ใช้ใน SDG Index และรายงานความก้าวหน้าฯ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่ SDG Index ใช้ตัวชี้วัดทั้งหมด 91 ตัวชี้วัด ซึ่งมีเพียงจำนวนหนึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ตรงกับตัวชี้วัดระดับโลก รายงานความก้าวหน้า ฯ ใช้ตัวชี้วัดระดับโลกทั้งหมดเท่าที่มี
  2. วิธีการคำนวณและกำหนดสถานะแต่ละตัวชี้วัดมีความแตกต่างกัน รายงานความก้าวหน้ ฯ อธิบายเอาไว้ว่ากำหนดค่าสถานะของแต่ละตัวชี้วัดโดยเทียบกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามเป้าหมายที่กำหนดใน SDG Targets หรือเปรียบเทียบกับสถานะในปี 2559 ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลข้างต้น แล้วแบ่งค่าสีออกเป็น 4 ระดับ คือ แดง (ต่ำกว่า 50% ของค่าเป้าหมาย) ส้ม (50-74% ของค่าเป้าหมาย) เหลือง (75-99% ของค่าเป้าหมาย) เขียว (บรรลุค่าเป้าหมาย 100%)  ส่วน SDG Index นั้น จะกำหนดค่าสถานะของแต่ละตัวชี้วัดโดยการกำหนดค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดเสียก่อนตาม SDG Target หรือตามหลักวิชาการ หรือใช้ค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีค่าสูงสุดเป็นเป้าหมายในกรณีที่ไม่มีข้อมูลข้างต้น แล้วใช้วิธีการปรับคะแนนให้เป็นคะแนน Normalized และตัดเกรดแบบอิงกลุ่มโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ 
  3. ในการกำหนดค่าสีของแต่ละเป้าหมายนั้น ใช้วิธีการแตกต่างกัน รายงานความก้าวหน้าฯ ใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเท่ากันระหว่างตัวชี้วัดภายในเป้าหมายนั้นทั้งหมดแล้วนำค่าคะแนนมากำหนดสีแบบเดียวกับการให้ค่าคะแนนตัวชี้วัดในข้อ (2) ในขณะที่ SDG Index นั้นกำหนดค่าสีแต่ละเป้าหมายโดยพิจารณาสถานะของตัวชี้วัดที่มีสถานะแย่ที่สุด 2 ตัว เช่น ถ้าสมมติว่าเป้าหมายหนึ่งมีทั้งหมด 14 ตัวชี้วัด มีสถานะสีเขียว 10 ตัวชี้วัด เหลือง 1 ตัว ส้ม 1 ตัว และสีแดง 2 ตัวชี้วัด เป้าหมายนี้จะมีสถานะเป็นสีแดง แม้ว่าจะมีถึง 12 ตัวที่ไม่อยู่ในสถานะสีแดงก็ตาม

ในเบื้องต้น การดำเนินการปรับจำนวนตัวชี้วัดหรือวิธีการประเมินค่าสถานะให้สอดคล้องกันคงไม่สามารถทำได้ แต่หากใช้ข้อมูลของแต่ละกลุ่มเป็นตัวตั้ง แต่ปรับวิธีการระบุค่าสถานะของค่าเป้าหมายให้เหมือนกันนั้นอาจพอเป็นไปได้ โดย ทางที่ง่ายที่สุดคือ การปรับการระบุค่าสถานะตามแบบ SDG Index คือกำหนดโดยดูค่าสถานะของตัวชี้วัดที่แย่ที่สุด 2 ตัวเป็นหลัก 

ภาพที่ 2 สถานะของ SDGs ระดับเป้าหมายและเป้าหมายย่อยเปรียบเทียบระหว่าง SDG Index และรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 เมื่อปรับวิธีการกำหนดสถานะเป้าหมายเป็นวิธีเดียวกันกับ SDG Index

สิ่งที่พบจากการปรับสถานะเป้าหมายของรายงานความก้าวหน้า ฯ ตามวิธีการให้สถานะของ SDG Index แล้ว พบว่า มีความเห็นที่เป็นจุดร่วมกันหลายประการดังนี้

ป้าหมายที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นวิกฤติอยู่นั้น มี 3 เป้าหมายที่ทั้งสองรายงานสอดคล้องกัน คือ 

  • SDG 2: Zero Hunger
  • SDG 3: Good Health and Well-being
  • SDG 14: Life under Water

เป้าหมายที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง มี 6 เป้าหมายที่ทั้งสองรายงานเห็นสอดคล้องกัน

  • SDG 5: Gender Equality
  • SDG 6: Clean Water and Sanitation
  • SDG 8: Decent Work and Economic Growth
  • SDG 11: Sustainable Cities and Communities
  • SDG 12: Responsible Consumption and Production
  • SDG 16: Peace Justice and Strong Institutions

เป้าหมายที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย มี 1 เป้าหมายที่ทั้งสองรายงานเห็นสอดคล้องกัน

  • SDG 4: Quality Education 

เป้าหมายที่มีสถานะไม่สอดคล้องกันใน 2 รายงานมีดังนี้

  • SDG 1: No Poverty ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้มีสถานะที่บรรลุเป้าหมายแล้ว (เขียว) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม)
  • SDG 7: Affordable and Clean Energy ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้มีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่มีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (เหลือง) 
  • SDG 9: Industry Innovation and Infrastructure ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้มีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่มีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (เหลือง)
  • SDG 10: Reduced Inequality ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้ยังมีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นวิกฤติ (แดง) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่มีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม)
  • SDG 13: Climate Action ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้มีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่มีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (เหลือง)
  • SDG 15: Life on Land ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้ยังมีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นวิกฤติ (แดง) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่มีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม)
  • SDG 17: Partnership for the Goals ซึ่งใน SDG Index เป้าหมายนี้มีสถานะที่ยังมีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นที่มีความเสี่ยง (ส้ม) แต่ในรายงานความก้าวหน้าฯ เป้าหมายนี้มีสถานะที่มีตัวชี้วัดในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (เหลือง)

ข้อค้นพบข้างต้นเป็นผลจากการวิเคราะห์เบื้องต้นเท่านั้น การจะวิเคราะห์โดยละเอียดจะนำเสนอต่อไป โปรดรอติดตามใน Facebook และเว็บไซต์ SDG Move 

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น