ระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนในเมืองหลวงของกานา ช่วยป้องกันการตายก่อนวัยอันควรได้มากถึง 5,500 คน

โครงการสุขภาวะในเขตเมือง (Urban Health Initiative – UHI) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่รายงาน ‘Health and economic impacts of transport interventions in Accra’ ชี้ข้อค้นพบสำคัญว่าการตายก่อนวัยอันควรจำนวนมากถึง 5,500 ราย ในเมืองอักกรา (Accra) เมืองหลวงของประเทศกานา ที่มาพร้อมกับภาระด้านงบประมาณทางการแพทย์นั้น สามารถป้องกันได้ด้วย ‘ระบบขนส่งและคมนาคมสาธารณะที่ยั่งยืน’ ตั้งแต่การวางผังเมืองที่ดี การใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะที่ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศซึ่งเป็นตัวชี้วัด ‘สุขภาวะที่ดีของเมือง’ ที่สำคัญ นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity – PA) หรือการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น อย่างเมืองที่เอื้อให้ผู้คนสามารถเดินและปั่นจักรยานได้นั้น จะทำให้การตายลดลงด้วย

เข้าถึงรายงานได้ที่ : WHO

โดยในรายงานมีการใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบทางสุขภาพและงบประมาณทางสาธารณสุข ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนผลประโยชน์ที่มีต่อเศรษฐกิจผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ด้วยการสำรวจเปรียบเทียบ 3 ฉากทัศน์ของนโยบายที่เป็นเรื่องของ 1) การใช้ที่ดิน 2) วิธีการขนส่งและคมนาคม และ 3) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและความต้องการ ซึ่งได้ช่วยให้เห็นผลกระทบของทั้งสามนโยบายที่มีต่อสุขภาพ ทั้งการตายของประชากร จำนวนปีที่สูญเสียไปก่อนวัยอันควร (Years of life lost – YLL) วันทำงานที่สูญเสียไป (lost workdays) การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งนอกเหนือไปจากเครื่องมือข้างต้นแล้ว WHO ได้ใช้วิธีวิจัยของ WHO HEAT (Health Economic Assessment Tool for walking and cycling) ด้านการเดินและการปั่นจักรยานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวัดดูประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพร่วมด้วย

ด้วยความที่เมืองอักกราเป็นอีกหนึ่งเมืองในภูมิภาคแอฟริกาที่กำลังเติบโตสู่ ‘ความเป็นเมือง’ อย่างรวดเร็ว (rapid urbanization) ที่ประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ในทุกปี ผู้คนมากกว่า 4.5 ล้านคนอาศัยอยู่ในตัวเมือง และมีการเดินทางเข้ามาทำงานทุกวันประมาณ 2.5 ล้านคน และคาดว่าจำนวนประชากรในเมืองจะสูงแตะที่ 9.6 ล้านคนภายในปี 2593 แน่นอนว่าความต้องการใช้ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รายงานของ WHO ฉบับนี้จึงต้องการสนับสนุนให้ผู้กำหนดนโยบายในเมืองอักกรา เล็งเห็นความเชื่อมโยงของการวางแผนระบบขนส่งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะจะสามารถช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพและสุขภาวะ (ความเป็นอยู่) ที่ดี พร้อมกับที่เมืองจะมีความยั่งยืนในระยะยาว

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 (11.2) ระบบขนส่งและคมนาคมสาธารณะที่ยั่งยืน ทุกคนเข้าถึงและจ่ายได้ มีความปลอดภัย ถนนปลอดภัย และ (11.6) การลดผลกระทบทางลบของเมืองที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคุณภาพอากาศและของเสียในเทศบาล ซึ่งจะส่งผลต่อ #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน (3.9) ลดจำนวนการตายและป่วยจากมลพิษทางอากาศ #SDG13 การจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ่าน ‘สุขภาวะในเขตเมือง’ เบื้องต้น ฉบับภาษาไทยที่: สุขภาวะในเขตเมือง

แหล่งที่มา:
https://www.who.int/news/item/24-03-2021-who-urban-health-initiative-releases-report-on-sustainable-transport-in-ghana

Last Updated on เมษายน 19, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น