‘International Wineries for Climate Action’ ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตไวน์ที่ให้คำมั่นลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนกับ UN Race to Zero

International Wineries for Climate Action (IWCA) คณะทำงานโรงบ่มไวน์จากนานาประเทศเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นที่แรกในฐานะตัวแทนของอุตสาหกรรมการผลิตไวน์ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการรณรงค์ ‘Race to Zero’* ขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ IWCA ก็ได้ให้คำมั่นที่จะ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในอุตสาหกรรมการผลิตไวน์ลงครึ่งหนึ่ง (50%) ภายในปี 2573 และ ‘ไม่ปล่อย’ ก๊าซเรือนกระจกเลย (Climate Positive หรือ Net-zero) ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ IWCA ในปัจจุบัน

เข้าถึง IWCA ได้ที่ : IWCA

โดย IWCA เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ Familia Torres ผู้ผลิตไวน์ในประเทศสเปนกับบริษัท Jackson Family Wines (JFW) หนึ่งในผู้ผลิตไวน์รายใหญ่จากสหรัฐฯ จากเหตุผลที่ว่าอุตสาหกรรมผลิตไวน์นั้น เป็นหนึ่งในการเกษตรที่เปราะบางต่อความร้อนและอากาศที่แห้งแล้งจัดอันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของไวน์ ขณะเดียวกับที่อุตสาหกรรมนี้ก็ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากด้วยเช่นกัน IWCA จึงสนับสนุนและเปิดรับให้โรงบ่มไวน์จากทั่วโลกที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน เข้ามาร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด อาทิ ในการรักษาสุขภาพของดิน และวิธีการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (mitigation) ที่มีต่อไร่องุ่นอย่างการกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) หรืออื่น ๆ ด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบัน IWCA มีสมาชิกประเทศ 10 สมาชิก (โรงบ่มไวน์) จากออสเตรเลีย ชิลี นิวซีแลนด์ โปปรตุเกส สเปน และสหรัฐฯ ที่ให้คำมั่นในการลงมือจัดการ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซฯ ภายในปี 2573 และ ‘ไม่ปล่อย’ ภายในปี 2593

รวมไปถึงว่า IWCA มีความพยายามที่จะจัดทำรายงานความก้าวหน้าเพื่อเผยแพร่เป็นรายปีด้วย

*Race to Zero เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2563 สอดประสานการขับเคลื่อนไปกับ COP26 และข้อตกลงปารีส เน้นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน และมีการจ้างงานที่ดี พร้อมรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต โดยสมาชิกประเทศถือว่าได้เข้าร่วมกับ Climate Ambition Alliance (Global Climate Action) ไปโดยอัตโนมัติ ที่มี 471 เมือง 1,675 บริษัท 569 มหาวิทยาลัย และ 85 นักลงทุนเข้าร่วม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 (2.4) ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน การเกษตรมีภูมิคุ้มกัน ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบอย่างภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น รวมถึงการพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องภายในปี 2573
#SDG12 (12.2) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน (12.6) แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคเอกชนรวมถึงรายงานความยั่งยืน
#SDG13 ลงมือจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน (17.16) ระหว่างประเทศ/ระดับโลก

แหล่งที่มา:
https://www.iwcawine.org/
https://sustainablebrands.com/read/collaboration-cocreation/international-wineries-for-climate-action-joins-global-race-to-zero

Last Updated on เมษายน 21, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น