ภาคเอกชนไทยกับการก้าวไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภูษณิศา กมลนรเทพ

นิยามความยั่งยืนกับภาคธุรกิจ

คำว่า ‘ความยั่งยืน’ เริ่มมีปรากฏในปี 1987 จากรายงาน Brundtland Report ว่าด้วยเรื่องของ Sustainable Development หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน (สฤณี และภัทราพร 2559) โดยแบ่งความยั่งยืนออกเป็นสามเสาหลัก ได้แก่ความยั่งยืนด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความหมายที่ชัดเชนว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในปัจจุบันโดยไม่เบียดเบียนศักยภาพและทรัพยากรของคนรุ่นหลังเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง (Keeble 1988)  ความยั่งยืนตามแนวคิดนี้ สามารถมาอยู่ในภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจที่ยั่งยืนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และประกอบการให้ได้ผลกำไร คือ ต้องยั่งยืนทางการเงินพร้อมกับการดูแลพนักงาน ชุมชน สังคม และให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ (สฤณี และ ภัทราพร 2559)

ในปี 2015 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The United Nations Sustainable Development Goals) และมีประเทศทั่วโลกเข้าร่วมจำนวน 193 ประเทศ (SDG Move 2562) เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย ทำให้ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการเรื่องการพัฒนาและยั่งยืนอย่างมีรูปธรรมมากขึ้นและมีจุดร่วมเดียวกันเป็นสากล (สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม 2555)

การเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจระดับโลก

กรณีศึกษาตัวอย่างจากระดับโลกอย่างผู้บริหารเรย์ แอนเดอร์สัน (Ray Anderson) ซีอีโอบริษัทอินเตอร์เฟซ (Interface) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพรมรายใหญ่ของโลกได้กล่าวไว้ในงาน TED Talk ปี 2009 ว่าธุรกิจเป็นตัวการใหญ่ที่สุดในการทำลายสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเป็นภาคส่วนเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะมีทรัพยากร มีความรู้และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก (กิตยางกูร ผดุงกาญจน์ 2562) เรย์ แอนเดอร์สัน ได้เปลี่ยนวิธีการผลิตพรมจากสารเคมีและวิธีการทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาเป็นการว่าจ้างชาวบ้านชาวประมงในการเก็บอวนหาปลาเก่า ๆ จากทะเลมาทำการรีไซเคิลวัตถุดิบเพื่อทำเป็นพรม การเปลี่ยนแปลงมาสู่การเป็นธุรกิจที่ใส่ใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของพนักงานในการคิดวิธีการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้พนักงานรักที่จะทำงานกับองค์กร และเมื่อการประกอบการเปลี่ยนไปในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ผลประกอบการบริษัทอินเตอร์เฟซเพิ่มขึ้นถึงสองในสามและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า (กิตยางกูร ผดุงกาญจน์ 2562)

ด้านฝ่ายผู้บริหารยูนิลีเวอร์ก็ได้กล่าวไว้ว่าโมเดลธุรกิจในสมัยปัจจุบันถึงอนาคตควรเติบโตไปจากผลกระทบ หมายถึง ที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจหรือผลกำไรเติบโตมาก การใช้ทรัพยากร พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนก็มากขึ้นตามไปด้วย แต่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนต้องพ้นไปจากการทำลาย ทำให้กำไรและยอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันผลกระทบก็ลดลง ถึงจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริง (สฤณี และ ภัทราพร 2559) จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญมากทั้งในแง่เป็นผู้กระทำให้โลกแย่ลงและเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้อย่างมหาศาล

องค์กรภาคีเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย

ในประเทศไทย เรามีองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Thailand Business Councilfor Sustainable Development (TBCSD) ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1993 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจไทยภายใต้แนวคิด”การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Thailand Business Council forSustainable Development 2019a) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 38 องค์กร ได้แก่  ธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 1 องค์กร, ธุรกิจการเงิน 3 องค์กร, ธุรกิจการบริการ 2 องค์กร, ธุรกิจเทคโนโลยี 1 องค์กร, ธุรกิจอุตสาหกรรม 11 องค์กร, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง 3 องค์กร, ธุรกิจด้านทรัพยากร 12 องค์กร, ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค 2 องค์กร และธุรกิจอื่น ๆ อีก จำนวน 3 องค์กร (ThailandBusiness Council for Sustainable Development 2019b page 16)

ที่ผ่านมา TBCSD มีการทำโครงการสนับสนุนธุรกิจยั่งยืนร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เช่น CarbonReduction Certification for Building ใบรับรองอาคารลดคาร์บอน ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเลือกใช้อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Carbon Reduction Label ฉลากลดคาร์บอน เป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันลดโลกร้อนผ่านกลไกทางการตลาด เกียรติบัตรการใช้เครื่องหมายรับรองฉลากเขียว ซึ่งเป็นฉลากที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน และการจัดประชุมสีเขียวในองค์กร (Green Meetings) (Green News Agency 2561) สำหรับปี 2018 ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จัดทำเอกสาร Sustainable Development 2018 นำเสนอข้อมูลการขับเคลื่อน SDGs ของภาคเอกชนไทย ผ่านการดำเนินงานของสมาชิก ถือเป็นการนำเสนอภาคปฏิบัติของนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในปัจจุบัน (Green News Agency 2561)

นอกเหนือจาก TBCSD ภาคเอกชนไทยยังมีรายงานดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร (Corporate SDG Index) ประจำปี 2017 ซึ่งประเมินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals (SDGs)) ของภาคเอกชนไทย พบว่าองค์กรธุรกิจจำนวน 124 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Report) รายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) หรือรายงานประจำปี (Annual Report) ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ (Thai CSR Network 2562) สามารถดำเนินการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 คือ การศึกษาที่เท่าเทียม ได้มากที่สุดรองลงมาคือเป้าหมายที่ 9 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมและนวัตกรรม และเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์กรเอกชนยังตอบโจทย์ได้น้อยที่สุดคือเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟูและสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน (Green News Agency 2561)

การประยุกต์ใช้ SDGsในภาคธุรกิจ

อีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาปฏิบัติการเรื่องความยั่งยืนของภาคเอกชนไทย คือ สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเดือนมีนาคมปี 2017 ได้แถลงเรื่อง “SDG Business: Articulating ‘Global Goals’ to ‘Local Impacts” สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงานของภาคเอกชนในทางที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกให้เกิดเป็นผลกระทบที่คาดหวังมาสู่ชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม มีหลักการดำเนินงาน 6 ประการ (วรวุฒิ ไชยศร 2560) ว่าด้วย:

  1. เที่ยงธรรม (Integrity): การมีเจตนาที่ดีไปสู่การกระทำที่ดี
  2. ทั่วถึง (Inclusive): นำขีดความสามารถหลักและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมาใช้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน
  3. เท่าเทียม (Equality): การจ้างงานคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่เข้าถึงได้
  4. ท้องถิ่น (Local): สร้างการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาครัฐต่อการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น
  5. ท่องเที่ยว (Tourism): สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทั้งในมิติของการผลักดัน ยกระดับการรับรู้ และริเริ่มนโยบายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
  6. ทดแทน (Renewable): ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

หลักการดำเนินงาน 6 ประการของ ‘Global Goals’ to ‘Local Impacts’ นี้ สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ในเป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เที่ยงธรรม) เป้าหมายที่ 11: ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุมปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (ทั่วถึง) เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศ ตามเป้าประสงค์ที่ 10.2: ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุเพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนาหรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่น ๆ (เท่าเทียม) เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน ตามเป้าประสงค์ที่ 8.3: ส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง (ท้องถิ่น) เป้าหมายที่ 9:  สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม และเป้าหมายที่ 14:  อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ท่องเที่ยว) เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ตามเป้าประสงค์ที่ 7.2: เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลกภายในปี 2579 และเป้าหมายที่ 12 ในเป้าประสงค์ที่ 12.2: การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (Renewable) (SDG Move 2562)

ทำไมภาคธุรกิจไทยต้องยั่งยืน

การชี้แจงข้อมูลด้านความยั่งยืนขององค์กรโดยเฉพาะการทำรายงานด้านความยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการเติบโตขององค์กร เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของธุรกิจคือนักลงทุน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียวมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลการประกอบการของภาคธุรกิจที่สะท้อนเรื่องความยั่งยืน เรียกสั้น ๆ ว่า ESG คือ Environment (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (การกำกับดูแลกิจการ) ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนทั้งสิ้น (CSR Club 2562)

นอกจากนี้ การกำหนดทิศทางความยั่งยืนขององค์กรยังทำให้ธุรกิจได้เปรียบคู่แข่งในการได้รับการยอมรับในมาตรฐานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งความยั่งยืนขององค์กรสามารถเป็นเป้าหมายภายในในการช่วยบริหารความเสี่ยง ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทรัพยากรอื่นทดแทน การมองหาทางเลือกใหม่ ๆ และการเพิ่มประสิทธิผลการดำเนินการ ไปจนถึงพนักงานมีความเข้าใจ เล็งเห็นความสำคัญของผลกระทบของการดำเนินกิจการและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางออกใหม่ๆ (วรวุฒิ ไชยศร 2560)

มาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญอีกกลุ่มใหญ่คือ ผู้บริโภค เมื่อมองจากมุมผู้บริโภคและกระแสนิยมที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน ในยุคของสื่อดิจิทัล ผู้บริโภคศึกษาถึงคุณค่าของแบรนด์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ มีความตระหนัก ตื่นตัวมากขึ้นกับสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันของโลก และมีอำนาจในการเลือก ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง (Thai Publica 2560) มีรายงานออกมาเผยแพร่และข่าวสารด้านภัยจากสภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศแปรปรวนมากขึ้น อีกทั้งผลกระทบที่เลวร้ายได้ส่งผลออกมาให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นมาก เช่น ปัญหาอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวจำนวนมหาศาลในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย (ReReef 2562) ปัญหาไฟไหม้ป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่หมู่เกาะอเมซอน (กรุงเทพธุรกิจ 2562) ปัญหาน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นซึ่งกระทบพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก (UNFCCC 2005) ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ ประเทศไทย (Matana Wiboonyasake 2562) ปัญหาไมโครพลาสติกที่ตกค้างในอาหารทะเล (Smith et al 2018) เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงอันใกล้ตัวของประเด็นด้านความยั่งยืนและวิถีการดำเนินชีวิต การบริโภคของตนเองในปัจจุบันและเริ่มมองหาหนทางแก้ไข (จิรภาพรรณ มลิทอง 2555)

ข้อมูล ข่าวสารเหล่านี้ ล้วนมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนหันมาเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจของผู้บริโภค ในต่างประเทศ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ทางรัฐบาลยังไม่มีกฎหมายในการงดการใช้ถุงพลาสติกเหมือนในรัฐอื่นๆ แต่ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เล็งเห็นประเด็นปัญหา และความต้องการของผู้บริโภคจึงมีนโยบายให้กิจการของตนงดใช้ถุงพลาสติก และขยายเป็นวงกว้างไปถึงกิจการอื่น ๆให้เริ่มดำเนินการ และผู้บริโภคกลุ่มที่ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาเรื่องถุงพลาสติกได้หันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้น (NSW 2018) เช่นเดียวกันกับการที่ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยเริ่มมีการยุติการให้ถุงพลาสติก (Thai PBS NEWS 2562)

สรุป

ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมากในการเป็นแรงขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย การอยู่ในจุดที่สร้างผลกระทบมากในความเป็นจริงก็เท่ากับว่าอยู่ในจุดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากเช่นกัน หากขนาดธุรกิจใหญ่ มีการเติบโตและผลกำไรมาก ได้เปลี่ยนการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากพอๆ กับผลกำไรมาเป็นการดำเนินการทางธุรกิจที่ใส่ใจถึงความยั่งยืนองค์รวมทั้งสามด้านคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเริ่มต้นจนจบกระบวนการ ก็จะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ความยั่งยืนเป็นส่วนที่ทำให้ภาคเอกชนประสบความสำเร็จทั้งในด้านการหาแหล่งทุนเนื่องจากผู้ลงทุนก็คาดหวังผลประกอบการและความน่าเชื่อถือในระยะยาวไม่ใช่แค่ผลกำไรที่เป็นตัวเงิน การมีมาตรฐานด้านความยั่งยืนทำให้แต่ละคู่ค้าต่างจะช่วยกันผลักดันกิจการในส่วนของตนให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกันจึงเกิดการพัฒนา ด้านพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ของภาคเอกชนก็สามารถมีส่วนร่วมทั้งด้านการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่ความยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตของตนเองที่ดีตามไปด้วย ในด้านของผู้บริโภคเองก็มีส่วนผลักดันภาคเอกชนในการดำเนินกิจการให้ยั่งยืนเช่นกัน เพราะการตระหนักรู้มากขึ้นจากข้อมูล ข่าวสารในยุคดิจิทัล การให้คุณค่ากับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านทางการเลือกอุปโภค บริโภค ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองคุณลักษณะนั้น ๆ ได้ จึงจะถือว่าตอบโจทย์ความเป็นไปของโลกและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสหประชาชาติหรือ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายนี้ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางการประกอบการอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการมีเป้าประสงค์ระบุไว้ชัดเจน และเป็นเป้าหมายในประเด็นสำคัญที่สะท้อนสภาพความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระดับโลก

………………………………………………..

เอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษ

  • Keeble, B. R., 1988. The Brundtland report: ‘Our common future’. Medicine and War, 4(1), pp. 17-25.
  • NSW, T. G. 2018. BAN PLASTIC BAGS [Online]. NSW: THE GREENS NSW. Available: https://nsw.greens.org.au/ban-plastic-bags [Accessed 1 April 2018].
  • Smith, M., Love, D. C., Rochman, C. M., & Neff, R. A. 2018. Microplastics in Seafood and the Implications for Human Health. Current environmental health reports, 5(3), 375–386.doi: 10.1007/s40572-018-0206-z
  • Thailand Business Council for Sustainable Development. 2019a. Thailand Business Council for Sustainable Development [Online]. Nonthaburi, Thailand: www.tei.or.th/.Available: http://www.tei.or.th/tbcsd/about_tbcsd/index.html [Accessed 26 September2019].
  • Thailand Business Council for Sustainable Development. 2019b. The 1/2019 Joint Meeting of Council and Associates of Thailand Business Council for Sustainable Development (TBCSD).
  • UNFCCC 2005. Climate change, small island developing States. Germany: Climate ChangeSecretariat (UNFCCC).

เอกสารอ้างอิงภาษาไทย

  • CSR Club. 2562. รางวัลรายงานความยั่งยืน [Online]. http://www.thailca.com: Thai Listed Companies Association. Available:http://www.thailca.com/csr/about/substainable [Accessed 26กันยายน 2562].
  • Green News Agency. 2561. เป้า ‘SDGs’ ไทยก้าวหน้าอันดับที่ 2 ในอาเซียน เอกชนเข้มการศึกษา-อ่อนปกป้องระบบนิเวศ [Online]. Green News Agency. Available: https://greennews.agency/?p=17523 [Accessed 26 กันยายน 2562].
  • REREEF. 2562. Great Barrier Reef กับอนาคตที่มืดมน [Online]. Available: https://www.facebook.com/Re4Reef/posts/2272998576345703/ [Accessed26 กันยายน 2562].
  • SDG Move. 2562. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs). โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move).
  • Thai CSR Network. 2562. Thailand – Corporate SDG Performance [Online]. สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. Available: http://www.thaicsr.com/2017/03/thailand-corporate-sdg-performance-124.html [Accessed 26 กันยายน 2562].
  • Thai PBS NEWS. 2562. ดีเดย์ 1 ม.ค.64 ไทยเลิกแจก “ถุงพลาสติก” ทั่วประเทศ [Online]. Thai PBS.Available: https://news.thaipbs.or.th/content/283923 [Accessed 26 กันยายน 2562].
  • Thai Publica. 2560. บทสรุป “แบรนด์ที่ยั่งยืน” ปี 2017: คิดใหม่เรื่องผู้บริโภคพลังและความหมายชีวิตที่เปลี่ยนไป. Available: https://thaipublica.org/2017/12/sb2017/ [Accessed 26 กันยายน2562].
  • WIBOONYASAKE, M. 2562. ‘เชียงใหม่ในม่านฝุ่น’ เข้าใจปัญหาของเมืองด้วยกัน[Online]. www.aware.co.th. Available: https://www.aware.co.th/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99/ [Accessed 26 กันยายน 2562 2562].
  • กิตยางกูร ผดุงกาญจน์. 2562. “เรย์ แอนเดอร์สัน” มหาเศรษฐีที่เก็บอวนเก่ากว่าสองร้อยตันมาทำพรมขายใหม่. Available: https://thepeople.co/ray-anderson-net-works/?fbclid=IwAR1jAa1973i9zh7HMlOj8KR9-w8VJkMYoxJvtE31iAsB2E1tRAEqHjik9e8 [Accessed 26 กันยายน 2562].
  • กรุงเทพธุรกิจ. 2562. ‘ไฟป่าอเมซอน’ ปัญหาของคนทั้งโลก [Online]. กรุงเทพฯ: https://www.bangkokbiznews.com. Available: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/845208 [Accessed 26 กันยายน2562].
  • จิรภาพรรณ มลิทอง. 2555. LOHAS ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม & สุขภาพ. ชี้ช่องส่งออก. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์.
  • วรวุฒิ ไชยศร. 2560. รายงานความยั่งยืน (SUSTAINABILITY REPORT) คืออะไร. CSR Club. สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย.
  • สฤณี อาชวานันทกุล และ ภัทราพร แย้มละออ. 2559. ความยั่งยืน (ฉบับย่นย่อ) – ว่าด้วยทุนนิยมสังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจสมัยใหม่. In: รพีพัฒน์อิงคสิทธิ์. (ed.). www.salforest.com/blog/sustainability-interview.
  • สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม 2555. แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ. กรุงเทพฯ:ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น