Director’s Note: 07: ว่าด้วยมาตรการโควิด-19 ที่ออกมาเมื่อสุดสัปดาห์

สวัสดีวันจันทร์ครับ

วันนี้เดิมทีตั้งใจจะบันทึกเรื่องราวที่ SDG Move และเครือข่าย SDSN ประเทศไทย ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในรายงาน Voluntary National Review (VNR) ของประเทศไทย ที่จะนำเสนอในการประชุมระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นควรค่าแก่การกล่าวถึงก่อน จึงต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ประกาศมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ในช่วงกลางดึกของวันเสาร์ต่อวันอาทิตย์ (ดูรายละเอียดที่นี่) จากนั้นวันอาทิตย์ทั้งวัน ความเกรี้ยวกราดของสังคมระเบิดออกในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนทาง Social Media ทุก Platform ตั้งแต่ Facebook ไปถึง Clubhouse

ปัญหาหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ 3 เรื่องหลัก 

  1. เหตุผลเบื้องหลังในการห้ามการนั่งรับประทานที่ร้าน: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้คนค่อนข้างแปลกใจ เพราะในช่วงเดือนก่อนที่มีการห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหารแล้วดูจะไม่ได้มีส่วนในการทำให้ยอดของผู้ติดเชื้อลดลงแต่อย่างใด และข้อมูลที่เปิดต่อสาธารณะก็สะท้อนชัดว่าปัญหาหลักอยู่ที่การระบาดในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยของคนงานก่อสร้างที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ณ จุดนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามีหลักฐานว่าการห้ามนั่งรับประทานสอดคล้องกับข้อมูลจริงอย่างไร นอกเหนือจากคำอธิบายจากหลักการทางการแพทย์ ที่ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุน
  2. เวลาที่ประกาศและระยะเวลาที่ให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว: สิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดและเกิดขึ้นซ้ำซาก คือการที่รัฐบาลให้เวลาผู้ประกอบการทราบและรับมือกับเรื่องนี้สั้นมากแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก การประกาศวันนี้ปิดพรุ่งนี้ กระทบผู้ประกอบการที่ต้องลงทุนซื้อวัตถุดิบมาเตรียมตัวสำหรับการขายในสัปดาห์ถัดไป กระทบต่อไปถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง และชีวิตของลูกจ้างของร้าน การประกาศและบังคับใช้มาตรการโดยไม่เปิดโอกาสให้ปรับตัวสร้างปัญหาและต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้ผู้ประกอบการอย่างยิ่ง
  3. มาตรการควบคุมไซต์ก่อสร้างและผลกระทบของการมาตรการ: เรื่องการควบคุมไซต์ก่อสร้างหรือเรื่องใด ๆ ก็ตาม การควบคุมและมีมาตรการปูพรมไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย การปิดทุกไซต์ก่อสร้างเป็นการบีบให้เชื้อ (หากมีในไซต์ใดก็ตาม) กระจายไปทั่วประเทศหรือกระจายข้ามประเทศเสียด้วยซ้ำ ส่วนการมาควบคุมในภายหลังแทบจะเป็นการ “วัวหายล้อมคอก” แล้ว แต่ส่วนนี้คงไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ แต่ระบุไว้ให้ทราบว่าเป็นอีกประเด็นที่ผู้คนตั้งคำถาม

ถามว่าผู้คนในสังคมเข้าใจไหมว่าเรากำลังอยู่สถานการณ์วิกฤติ ทุกคนเข้าใจ และทุกคนพร้อมจะร่วมมือกับภาครัฐหากมีการดำเนินนโยบายที่สมเหตุสมผล บางผู้ประกอบการยินดีด้วยซ้ำแม้จะเจ็บสักนิดแต่ให้มันจบไปจะได้กลับมาทำมาหากิน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น หาได้มีการให้ข้อมูลโดยละเอียดแก่สาธารณะเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของการออกมาตรการเหล่านั้นแต่อย่างใด

สิ่งที่รัฐบาลขาดอย่างยิ่งก็คือการเยียวยา แต่หากรัฐบาลจะใช้ข้ออ้างว่า งบประมาณไม่เพียงพอจะเยียวยา รัฐบาลก็ต้องเปิดช่องและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้ “ตั้งรับ” และ “ปรับตัว” บ้าง เพราะการปล่อยให้ผู้ประกอบการตั้งรับปรับตัวเองนั้นท้ายที่สุดคนที่อยู่ได้คือคนที่สายป่านยาวเท่านั้น ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย และต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมกับการปรับตัวด้วย ความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการจะส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของลูกจ้างซึ่งเป็นคนเปราะบางอีกต่อหนึ่ง ส่วนนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของ SDG 1 การขจัดความยากจนด้วย 

การปรับตัวที่ว่านี้อาจไปช่วยอุดหนุนในส่วนของปัจจัยการผลิตก็ได้ เช่น อุดหนุนค่าเช่าที่ (ในขณะเดียวกันก็เจรจาให้ผู้ให้เช่าลดค่าเช่าลง) การเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนนำเงินสะสมชราภาพมาใช้จ่ายโดยอาจจะใช้ 10% หรือ 15% ของเงินดังกล่าวในช่วงที่มีการห้ามการนั่งรับประทานในร้านสำหรับลูกจ้างที่ไม่ถูกจ้างงาน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ของรัฐ และให้ลูกจ้างยังพอมีเงินจุนเจือชีวิตได้ เป็นต้น หากค่าเช่าที่ และ/หรือค่าจ้างแรงงานได้ถูกแบ่งเบาไปได้ ส่วนอื่นผู้ประกอบการน่าจะพอมีความสามารถในการรับมือ ตั้งรับและปรับตัวได้เพิ่มขึ้น และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับรัฐในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงวิกฤตินี้

ข้อเสนอข้างต้นเป็นตัวอย่างข้อเสนอที่ลองใช้ SDGs เป็นหลักการในการพิจารณาและสร้างข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการรับมือกับ COVID-19 คือ แน่นอนว่าเป้าหมายทางสังคมหลายอย่างอาจจะมีความขัดกัน เช่น ในกรณีวิกฤติโควิด-19 เป้าหมายด้านสุขภาพขณะนี้ย่อมขัดกับเป้าหมายทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนนี้สังคมก็เข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ในการขัดกันนี้ที่รัฐบาลเลือกให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านสุขภาพ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดว่ามันกระทบกับใครในมิติใดบ้าง (การพัฒนาอย่างบูรณาการ) และมันจะกระทบคนเล็กคนน้อยอย่างไร เพียงใดบ้าง และทำอย่งาไรเราจะไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง (การพัฒนาที่ครอบคลุม)

สิ่งที่ปรากฏตอนนี้คือ รัฐบาลหาได้ออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องเอาหลักคิดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในการกำหนดนโยบายได้แล้ว ก่อนที่รัฐบาลจะทิ้งคนมหาศาลไว้ข้างหลัง

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น