Editor’s pick 03 | ประมวลเรื่องราวครึ่งแรกของปี 2023: สัญญาณบ่งชี้ภาวะอดอยาก ขาดแคลนน้ำ และเสี่ยงจากวิกฤติความร้อน

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ครึ่งแรกของปี 2023 กำลังจะผ่านไปพร้อมครึ่งหลังของเส้นทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่เหลือเวลาราว 7 ปี ก็จะครบกำหนดวาระเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกชุดนี้ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หกเดือนที่ผ่านมาเกิดเวทีการทบทวนรายประเด็นโดยเฉพาะจากองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลการขับเคลื่อนในเป้าหมาย SDGs ที่จะถูกนำมาเป็นเป้าหมายหลักในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) อันจะเกิดขึ้นในวันที่ 10-19 กรกฎาคมนี้ จดหมายข่าวฉบับนี้จะฉายภาพรวมของสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา และอัปเดตเรื่องราวสำคัญในรอบ 1 เดือนนี้ในแบบกระชับพร้อมแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ทุกท่านรอติดตาม เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • Highlight issues : อัปเดตข่าวสาร  ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities : แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • Upcoming event : แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น


Editor’s note

ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2023 

เมื่อนำข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในภาพรวมและเชิงประเด็นที่ได้ติดตามตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา มาประมวลผลทั้งหมด 230 ข่าว แบ่งเป็นข่าวภายในประเทศ 117 ข่าว ข่าวสถานการณ์ต่างประเทศและนานาชาติ 113 ข่าว ปรากฏจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องรวม 522 ครั้ง (1 ข่าวอาจเกี่ยวกับ SDGs มากกว่า 1 เป้าหมาย)  ในจำนวนี้มาจากข่าวสถานการณ์ภายในประเทศจำนวน  189 ครั้ง และสถานการณ์ระดับนานาชาติจำนวน 333 ครั้ง

หากนำจำนวนแท็ก SDGs ที่พบมาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม หรือที่เรียกว่า 5Ps จะพบว่าเป้าหมาย SDGs ในกลุ่มสิ่งแวดล้อม (Planet) มีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 26.44 ตามด้วย กลุ่มเศรษฐกิจ (prosperity) คิดเป็นร้อยละ 25.86 กลุ่มสังคม (people) คิดเป็นร้อยละ 25.48 กลุ่มความสงบสุขและสันติภาพ (peace) ร้อยละ 13.41 และกลุ่มหุ้นส่วนความร่วมมือ (partnership) คิดเป็นร้อยละ 8.81  แต่เนื่องจากแต่ละกลุ่มนั้นมีจำนวนเป้าหมาย SDGs ภายใต้กลุ่มต่างกันจึงส่งผลต่อจำนวนผลรวมของแท็ก ดังนั้นเมื่อนำผลมาคิดเป็นสัดส่วนเพื่อให้ทุก กลุ่มสามารถเปรียบเทียบกันได้จะพบว่าได้ผลที่ต่างออกไปกล่าวคือ

กลุ่มประเด็นความสงบสุขและสันติภาพ (peace) จะเป็นประเด็นที่พบมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 13.41 ตามด้วย อันดับที่ 2 กลุ่มหุ้นส่วนความร่วมมือ (partnership) คิดเป็นร้อยละ 8.81 อันดับที่ 3 กลุ่มสิ่งแวดล้อม (Planet) มีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 5.29 ตามด้วย อันดับที่ 4 กลุ่มเศรษฐกิจ (prosperity) คิดเป็นร้อยละ 5.17 และอันดับที่ 5 กลุ่มสังคม (people) คิดเป็นร้อยละ 25.48 

5Pจำนวนเป้าหมายร้อยละจำนวนเป้าหมาย
ตามกลุ่ม 5 Ps
สัดส่วนต่อ
จำนวนเป้าหมาย
People
(SDG 1-5)
133.0025.4855.10
Prosperity
(SDG 7-11)
135.0025.8655.17
Planet
(SDG 6,12,13,14,15)
138.0026.4455.29
Peace(SDG16)70.0013.41113.41
Partnership(SDG17)46.008.8118.81

ภาพที่ 1  สัดส่วนของจำนวนแท็ก SDGs ที่พบต่อจำนวนเป้าหมายตามกลุ่ม 5Ps


เมื่อพิจารณาจำแนกระดับพื้นที่จะพบว่ากลุ่มประเด็น Peace อันได้แก่ SDG 16 นั้นเป็นประเด็นที่มีจำนวนเป้าหมายมากที่สุดของข่าวสถานการณ์ภายในประเทศสอดรับกับสถานการณ์ตามหน้าข่าวในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาที่เน้นหนักไปในเชิงการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการมีส่วนร่วม ความรุนแรง การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก  ตามด้วยประเด็นด้านสุขภาพตาม SDG 3  ทั้งค่าใช้จ่ายด้าสุขภาพต่อหัวของคนไทยที่สูงขึ้น การทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์จนนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนบุคลากรในสถานพยาบาลของรัฐ และการเจ็บป่วด้วยโรคไม่ติดต่อที่เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ pm2.5  นอกจากนี้ยังมีรายงานการสำรวจของผู้ขอเข้ารับคำปรึกษาสุขภาพจิตจาก สสส. พบว่าประชากรในวัยแรงงานมีความเครียดและเข้ารับบริการมากที่สุดด้วย 

ส่วนสถานการณ์ในระดับนานาชาติรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่าข่าวที่รวบรวมเกี่ยวข้องกับ SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมิอเพื่อการพัฒนา มากที่สุด โดยประเด็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลักดันให้มีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงิน ความร่วมมือในเชิงประเด็นท้าทายโดยเฉพาะการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าศเรือนกระจกสอดคล้องเป้าหมาย SDGs ที่มีจำนวนแท็กมากตามมมาเป็นอันดับ 2 คือ SDG13 และ SDG3 โดยเฉพาะการลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

ภาพที่ 2 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ

สัญญาณบ่งชี้ภาวะอดอยาก ขาดแคลนน้ำ และเสี่ยงจากวิกฤตความร้อน 

นอกจากการติดตามสถานการณ์ข่าวจะทำให้ทราบภาพรวมของจำนวนความเคลื่อนไหวในเชิงปริมาณแล้ว เมื่อพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติจากการเผยแพร่รายงาน การประชุมในเวทีระหว่างประเทศช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งมีการเผยแพร่รายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหาร สถานการณ์ความมั่นคงทางน้ำ และการคาดการณ์ความเสี่ยงจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ วิกฤตความร้อนทำให้ทราบถึงสัญญาณความรุนแรงของภาวะความอดอยากทางอาหาร วิกฤติการณ์ทางน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของประชากร และระดับความรุนแรงของผลกระทบจากการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติความร้อนที่จะส่งผลต่อสุขภาพ ชีวิตของมนุษย์ ดังนี้

สัญญาณของภาวะอดอยาก  Food Security Information Network  เผยแพร่รายงาน Global Report on Food Crises (GRFC) 2023 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างพันธมิตร 16 ราย การประเมินภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน รายงานปีนี้เผยประเด็นสำคัญ เช่น คนทั่วโลกกว่า 258 ล้านคนใน 58 ประเทศเผชิญกับภาวะอดอยากที่รุนแรงในระดับวิกฤติ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบกว่า 35 ล้านคนตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง  โดยที่ 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะอดยาก ได้เเก่ ความขัดเเย้งทั้งความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากการเมือง ความขัดแย้งจากการแย่งทรัพยากร  ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และการเปลี่ยนเเปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนเเรง (economic shock)


สัญญาณการขาดแคลนน้ำ เมื่อเดือนมีนาคมสหประชาติเผยแพร่รายงาน UN World Water Development Report ก่อนที่จะมีการประชุมสำคัญในวันน้ำโลก (world water day) ประจำปี 2566 เนื้อหาสำคัญของรายงานกล่าวคงผลกระทบ ดังนี้ 1) คนกว่าเกือบ 1 พันล้านคนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในปัจจุบัน และจำนวนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงถึงระหว่าง 1.7 พันล้านถึง 2.4 พันล้านคนภายในสามทศวรรษข้างหน้า และความต้องการน้ำในเมืองคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 80% ภายในปี 2593 2) ผู้คนกว่า 2 พันล้านถึง 3 พันล้านคนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี 3)ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาน้ำในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 2.7 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2545 แต่ก็ยังน้อยอยู่เป็น 8.7 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2565


สัญญาณเสี่ยงจากวิกฤติความร้อน รายงานการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศล่าสุดโดย ทิม เลนตัน (Tim Lenton) ผู้อำนวยการสถาบัน Global Systems แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ (University of Exeter) เผยว่าทุก 0.1°C ของอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเหนือกว่าระดับปัจจุบัน จะทำให้ผู้คนอีกประมาณ 140 ล้านคนจะต้องเผชิญกับความร้อนระดับอันตราย  โดยหากอุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้น ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ผู้คนเกือบ 2,000 ล้านคนอาจมีชีวิตอยู่กับอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่ร้อนกว่า 29 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิสูงสุดต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต และหากยังคงดำเนินตามนโยบายในระดับปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.7 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้  ขณะที่ ข้อมูลจากงานวิจัย ระบุจำนวนประชากรที่ต้องเผชิญกับความร้อนในระดับอันตรายภายในปี 2070 ได้แก่ อินเดีย 617.7 ล้านคน, ไนจีเรีย 323.4 ล้านคน, อินโดนีเซีย 95.2 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ 85.6 ล้านคน, ปากีสถาน 84.1 ล้านคน, ซูดาน 79.5 ล้านคน, ไนเจอร์ 72 ล้านคน, ไทย 54.1 ล้านคน, ซาอุดีอาระเบีย 48.9 ล้านคนและบูร์กินาฟาโซ 47.2 ล้าน

นอกจากนี้การรายงานผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศต่อเด็กโดยยูนิเซฟเผยว่าเด็กไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศสูงกว่าเด็กในพื้นที่อื่น โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติเพื่อรับมือหรือบรรเทาผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว

โจทย์ใหม่การบริหารจัดการน้ำ: ประเทศไทยไม่หมือนเดิม?

Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม จนถึงครึ่งแรกเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าประเด็นมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้


ระดับนานาชาติ


  1. สงครามและ Climate Change ทำให้มีผู้พลัดถิ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
    ศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre: IDMC)มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นในประเทศ (Internally Displaced People: IDPs) ว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนถึง 71.1 ล้านคนทั่วโลกเมื่อปี 2565 เนื่องจากเหตุผลด้านสงครามและวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกรายงานข้างต้นอธิบายด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงมีส่วนกระตุ้นให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศสูงถึง 28.3 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรายงานประจำปีตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาถึง 3 เท่า ขณะที่ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่นภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และคลื่นรังสีความร้อนซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นอีกกว่า 32.6 ล้านคนในปีที่ผ่านมา
  2. รายงานของ UN ชี้ว่า ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก’ ในช่วง 50 ปี คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2 ล้านคน
    รายงานล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ระบุว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2 ล้านคนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยกว่าร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิต มีสาเหตุมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรายงานระบุอีกว่า โลกเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกี่ยวโยงกับสภาพอากาศอย่างน้อย 11,778 ครั้ง ในช่วงปี 2513 – 2564 ที่ผ่านมา ทั้งยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. ประเทศทั่วโลกเตรียมเข้าร่วมประชุมจัดทำสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษขยะพลาสติก
    วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 รัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมจากหลายประเทศทั่วโลกจะประชุมร่วมกัน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหารือเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษขยะพลาสติก (plastic pollution) ซึ่งจะเป็นการประชุมหารือครั้งที่ 2 โดยมีความคาดหวังที่จะออกร่างข้อมติฉบับแรก (zero draft) เพื่อนำไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งที่ 3  Katharina Rall นักวิจัยอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม ของ Human Rights Watch เผยถึงสนธิสัญญาข้างต้นว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างหลักประกันให้แน่ใจว่าสนธิสัญญาฉบับใหม่นั้นระบุแหล่งที่มาของมลพิษพลาสติกขั้นสูงสุด ซึ่งก็คือการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล” เนื่องจากการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนทั่วโลก
  4. การประหารชีวิตปี 2565 สูงสุดในรอบ 5 ปี พบกว่า 55 ประเทศยังใช้โทษประหาร
    รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2565โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ปี 2565 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยมีข้อมูลการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 883 คนใน 20 ประเทศ เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปี 2564   ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตบุคคลมากที่สุด โดยมีมีจำนวนเพิ่มจาก 520 ครั้งในปี 2564 เป็น 825 ครั้งในปี 2565 ส่วนสถานการณ์ในอาเซียน กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาวและบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ขณะที่ไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


ประเทศไทย


 ความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศไทยในรอบครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมถึงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเด็นด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อมมีทั้งสถานการณ์เชิงความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs และการดำเนินการที่ส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนในบางประเด็น ดังนี้ 

  1. THE Impact Rankings 2023: มหาวิทยาลัยไทยกว่า 9 แห่ง ติด Top 400 ของโลก
    วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ “THE Impact Rankings” ประจำปี 2566 ปีนี้ มหาวิทยาลัยจากประเทศไทยส่งข้อมูลและได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 65 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 51 เเห่ง เมื่อปี 2565 เเละ 26 เเห่ง เมื่อปี 2564 โดยพบว่ามีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชมงคลจากจังหวัดต่าง ๆ นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของภาควิชาการในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อน SDGs
  2. ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 เสี่ยงร้อนระดับวิกฤติ ภายในปี 2070
    ภาวะโลกร้อนกำลังกดดันให้ประชากรมากกว่า 1 ใน 5 ของโลก ต้องย้ายออกจากภูมิอากาศจำเพาะ หรือภูมิอากาศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากที่สุด ภายในปี 2100 จากการคาดการณ์ของงานวิจัยล่าสุด ระบุว่า หากอุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้น ในทศวรรษต่อๆ ไป จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก หากผู้กำหนดนโยบายไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาด เรื่องการลดผลกระทบจากความร้อนระดับอันตราย และภายในสิ้นศตวรรษนี้ ผู้คนเกือบ 2,000 ล้านคนอาจมีชีวิตอยู่กับอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่ร้อนกว่า 29 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิสูงสุดต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตภายใต้การศึกษานี้คาดว่า ภายในปี 2070 ประเทศไทยจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากความร้อนในระดับอันตรายประมาณ 54.1 ล้านคน อยู่ในความเสี่ยงอันดับที่ 8 ของโลก
  3. ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเริ่มบังคับใช้ในไทย
    ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของของเสียอันตรายซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบัน ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 โดยสาระสำคัญของข้อบทดังกล่าวกำหนดว่าประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สหภาพยุโรป (EU) และลิกเตนสไตน์ ต้องยกเลิกการส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ มายังประเทศที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล หมายความว่าประเทศไทยต้องห้ามนำเข้าของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลจากกลุ่มประเทศข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเด็ดขาด
  4. ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดให้โครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA
    วันที่ 7 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาด ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment – EIA)
  5. ยูนิเซฟ เรียกร้องให้ ‘สถานรองรับ’ เป็นทางเลือกสุดท้ายในการดูแลเด็ก เพื่อสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
    จากเหตุการณ์การทารุณกรรมเด็กในสถานสงเคราะห์ครั้งล่าสุดที่จังหวัดสระบุรี ยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้สถานรองรับเป็นทางเลือกสุดท้ายในการดูแลเด็ก มุ่งเน้นให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลแบบครอบครัว มีการประสานงานกันระหว่างองค์กรภาครัฐ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้มีการกำกับดูแลสถานรองรับประเภทต่าง ๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์ โรงเรียนประจำ และวัด ผ่านระบบการขึ้นทะเบียนและการกำหนดมาตรฐาน และรัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสถานรองรับเด็กทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ มีความปลอดภัย ได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง รวมทั้งได้เรียนรู้และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเต็มที่

Our Activities

Upcoming event

ขอเชิญชวนเข้าร่วมเวทีเสวนาและนิทรรศการภาพ “SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน”

เวทีเสวนาและนิทรรศการภาพ “SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นการวางเป้าหมายการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทางสำนักข่าวฯ และพันธมิตร จึงได้จัดงานเวทีเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย SDGs | The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง SDG Move Bangkok Tribune News Decode.plus SEA-Junction โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิ Konrad-Adenauer-Stiftung Thailand

ผู้สนใจสามารถร่วมรับชมนิทรรศการภาพถ่ายจะจัดขึ้นในวันที่ 15-22 มิถุนายน 2566
พร้อมทั้งร่วมเวทีเสวนาและการเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายจะมีขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30-16.00 น.
ณ มิวเซียมสยาม


เปิดตัว Sustainable Development Report และ SDG Index 2023 มิถุนายนนี้

Sustainable Development Report และ SDG Index 2023 จัดทำโดย เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศต่าง ๆ ที่จัดทำเป็นประจำทุกปี จะเผยแพร่ผลการจัดอันดับล่าสุดในเดือนมิถุนายนนี้ ติดตามผลและการนำเสนอผลของประเทศไทยได้ที่เว็บไซต์ sdgmove.com


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – เจ้าหน้าที่สื่อสาร
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เจ้าหน้าที่สื่อสาร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on มิถุนายน 16, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น