ปลาน้ำจืดกลืนกินไมโครพลาสติกมาตั้งแต่ทศวรรษ 2493

‘เป็นเวลาร่วม 10 – 15 ปีแล้วที่ผู้คนตระหนักถึงปัญหาการปนเปื้อนของพลาสติกในแหล่งน้ำ แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่ามันเริ่มมีการปนเปื้อนในระบบนิเวศมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือบริบททางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร’ Tim Hoellein รองศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจาก Loyola University Chicago หนึ่งในทีมผู้วิจัย ‘A fish tale: a century of museum specimens reveal increasing microplastic concentrations in freshwater fish’ เผยแพร่ในวารสาร Ecological Applications ได้กล่าวเอาไว้

เพื่อให้เข้าใจการปนเปื้อนและการสะสมของพลาสติกซึ่งใช้เวลานานร่วมทศวรรษ/ศตวรรษในการย่อยสลาย หรือเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นแต่ยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่สูญสลาย นักวิจัยจึงทำการศึกษากระเพาะของปลาน้ำจืดที่ถูกเก็บรักษาในขวดโหลบรรจุแอลกอฮอล์ตามหลักสัตวศาสตร์ด้านปลา (ichthyology) ในพิพิธภัณฑ์ Field Museum เพื่อให้เห็นตัวอย่างความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตบนโลก พบว่าปลาเหล่านั้นได้กลืนกินไมโครพลาสติก (microplastics) เข้าไปตั้งแต่ทศวรรษ 1950 (2493) และพลาสติกเหล่านั้นยังได้สะสมมาต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไปด้วย

ในการวิจัยได้ศึกษาปลาน้ำจืด 4 ชนิดที่พบได้ทั่วไปในห้วงปี 1900 (2443) ได้แก่ ปลากะพงปากกว้าง (largemouth bass) ปลากดอเมริกัน (channel catfish) ปลา sand shiners ปลาบู่กลม (round gobies) โดยใช้ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ยังรวมถึงปลาน้ำจืดอื่น ๆบางส่วนจาก Illinois Natural History Survey และ University of Tennessee เพื่อให้มีตัวอย่างอย่างน้อย 5 ตัวอย่างจากทศวรรษหนึ่ง ๆ

โดยใช้มีดผ่าตัดและคีมหนีบผ่าดูทางเดินอาหารและช่องท้องของปลา และใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ทำให้ชิ้นส่วนแตกเป็นฟองและแยกขาด ทว่าสิ่งที่พบก็คือเศษพลาสติกที่ยังอยู่และไม่ได้สลายไป แม้จะเป็นชิ้นส่วนที่เล็กและมองไม่ได้ด้วยตาเปล่าแต่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูก็ตาม

จากนั้นจึงส่งพลาสติกเหล่านั้นไปให้มหาวิทยาลัย Toronto ได้ใช้เครื่องมือและเทคนิคเฉพาะทางตรวจสอบว่าเป็นไมโครพลาสติกหรือไม่ รวมถึงว่ามีแหล่งที่มาจากที่ใด โดยทางผู้วิจัยพบว่าเป็นไมโครพลาสติก และไมโครพลาสติกเหล่านี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสอดประสานไปกับปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตมากขึ้นตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมในทศวรรษที่ 1950 (2493) ที่กลับมาสั่งสมในระบบนิเวศ กล่าวได้ว่าไม่เพียงแต่ท้องทะเลที่พบพลาสติกเท่านั้น แต่พลาสติกยังพบได้ในแหล่งน้ำจืดด้วย

ผู้วิจัยทิ้งท้ายการศึกษาไว้ว่า จริงอยู่ที่ไมโครพลาสติกอาจจะแตกตัวมาจากชิ้นพลาสติกขนาดใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมาจาก ‘เสื้อผ้า’ ขณะที่ซักล้างแล้วอนุภาคของไมโครพลาสติกเหล่านี้ได้กระจายออกไปตามแหล่งน้ำ ถึงกระนั้น การผลิตและการบริโภคที่มีชิ้นส่วนพลาสติกก็เป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของเราที่มีต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) จัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิต ลดการปล่อยออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) หลักประกันการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน ภายในปี 2563

แหล่งที่มา:
https://www.fieldmuseum.org/about/press/fish-have-been-swallowing-microplastics-1950s

Last Updated on มิถุนายน 28, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น