7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้

เมื่อวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2565 การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) ถูกจัดขึ้น ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ 

ในการประชุมครั้งนี้ “สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” หรือ สกน. เครือข่ายประชาชนเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน ประมาณ 20 คน เดินทางไปยังโรงแรมที่จัดการประชุมเเละยื่นหนังสือ 7 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ เพื่อหวังให้นำข้อเรียกร้องดังกล่าวเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 เนื่องจากประชาชนมีความกังวลต่อการประชุมดังกล่าว

การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้เป็นการรวมตัวของเขตเศรษฐกิจจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และส่งเสริมอุตสาหกรรมค้าไม้ที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะการต่อสู้กับการลักลอบตัดไม้ การค้าไม้ผิดกฎหมาย ส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการกิจการค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว นับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย  

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่เอเปคป่าไม้กำหนดขึ้นบางประเด็นยังเป็นที่น่ากังวลสำหรับประชาชน เพราะอาจทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมพยายามเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเสี่ยงต่อการเข้าไปยึดแย่งทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น แม้ความร่วมมือของเอเปคด้านป่าไม้จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับการควบคุมจัดการทำไม้ผิดกฎหมาย (illegal logging) อย่างจริงจังแต่การบังคับใช้กฎหมายสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนายังคงมีความคลุมเครือและไม่ครอบคลุมต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม อาทิ บางประเทศยังไม่มีการรับรองสิทธิในการใช้ป่าสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งหากมีการใช้ป่าของคนกลุ่มนี้ จะถูกตีความว่าผิดกฎหมาย ทำให้การพัฒนานี้อาจจะมีคนที่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

ภาพ : ข้อเรียกร้องสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ โดย มพน./greennews

สำหรับข้อเรียกร้องที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้ยื่นในหนังสือมีทั้งหมด 7 ข้อ (โดยสรุป) ดังนี้ 

  1. รับรอง “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ
  2. นิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ
  3. ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายดังกล่าวโดยชุมชน 
  4. การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
  5. หยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” ปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต และมาแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน ท้องถิ่นดั้งเดิม
  6. หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปรกติฤดู 
  7. ให้รัฐไทยปฏิบัติตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

จากการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว นาย จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นผู้แทนรับหนังสือไว้หารือ ซึ่งระบุว่า หากไม่ติดขัดข้อกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ และยืนยันว่าจะไม่มีการพูดคุยเรื่องการฟอกเขียวในเวทีดังกล่าว โดยก่อนจบกิจกรรม สกน. ได้แขวนป้าย 7 ข้อเรียกร้อง ในหัวข้อ “จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้-ที่ดิน ถึง เอเปค (Thai Peasant & Indigenous Victims’ voice to APEC)” ไว้หน้าโรงแรมเลอ เมอริเดียน 

ด้วยประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและหมิ่นเหม่ระหว่างการพัฒนาหรือการสร้างผลกระทบต่อผู้คนเช่นนี้ การดำเนินการต่าง ๆ รัฐบาลควรจะต้องทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดถี่ถ้วนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อครอบคลุมแก่คนทุกคน เพื่อ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทิ้งให้ต้องเผชิญความยากลำบาก เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว การพัฒนานั้นจะยั่งยืนอย่างแท้จริงได้เช่นไร

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตของโควิด-19 พร้อมนำเสนอแนวคิด ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ – SDG Move 
EU ร่างข้อเสนอให้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลงทุนที่ยั่งยืน – SDG Move 
‘Fit for 55’ แพ็กเกจนโยบายและกฎหมายลดคาร์บอน เพื่อต่อสู้กับ Climate Change ของสหภาพยุโรป – SDG Move 
ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะ ค้านเสียงฝ่ายห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชากรรอบมหาสมุทรแปซิฟิก – SDG Move
SDG Updates | ทำไมนโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืน 
SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling – SDG Move 
Director Notes: 24: อย่าทำลาย SDGs ด้วยการนำไปปฏิบัติแบบผิด ๆ – SDG Move 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: 
‘เกษตรกรภาคเหนือ’ บุกเวทีเอเปคป่าไม้ที่เชียงใหม่ ยื่น 7 ข้อเรียกร้องถึง รมว.ทรัพยากรฯ ให้เอาเข้าที่ประชุม | ประชาไท Prachatai.com 
เอเปคป่าไม้คืออะไร – (greennews) 
ทส.รับหนังสือ แต่ไม่รับปากหารือ “7 ข้อเสนอเครือข่ายต่อเอเปคป่าไม้เชียงใหม่”- (greennews) 
การประชุมเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 – กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change Management and Coordination 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 13, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น