เด็กและวัยรุ่นอายุ 2-19 ปีในสหรัฐฯ บริโภคอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษมากถึง 2 ใน 3 ของแคลอรี่

การศึกษาจาก Friedman School of Nutrition Science & Policy ภายใต้ Tufts University เผยแพร่ใน JAMA ชี้ให้เห็นว่าอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษ (Ultraprocessed foods) กลายเป็นส่วนหนึ่งของโภชนาการอาหารที่เด็กและวัยรุ่นอายุ 2-19 ปีในสหรัฐฯ บริโภคเข้าไปในสัดส่วนที่มากถึง 2/3 ของแคลอรี่ หรือเพิ่มขึ้นจาก 61% ในปี 1999 เป็น 67% ในปี 2018 และยังมีความไม่เท่ากันเมื่อจำแนกกลุ่มตามเชื้อชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

นอกจากนี้ เด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุดังกล่าวบริโภคอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการหรือผ่านกระบวนการน้อยน้อยลงด้วย


กระบวนการแปรรูปอาหารมักจะเป็นประเด็นที่ถูกละเลยในงานวิจัยด้านโภชนาการ ทว่ากระบวนการเพื่อคงไว้ซึ่งความสดใหม่ของอาหารให้ยาวนานขึ้น และอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคด้วยความสำเร็จรูปที่พร้อมทานหรือเพียงแค่อุ่นให้ร้อนนั้น เป็นไปได้ว่าสัมพันธ์กับการมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ แม้ว่าอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษในแต่ละประเภท จะมีคุณค่าทางโภชนาการหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นบริโภคอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษมากขึ้น เป็นประเด็นที่น่ากังวล

ตัวอย่างของอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษ มีอาทิ ขนม/ของหวานในถุงหีบห่อ ซีเรียลที่มีรสหวานไว้ทานเป็นมื้อเช้า เฟรนช์ฟรานส์ เบอร์เกอร์ เนื้อประเภทโบโลนาและซาลามิ โดยการบริโภคในปริมาณที่มากเกินอาจเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคมะเร็ง เป็นต้น

โดยอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษที่เด็กและวัยรุ่นนิยมบริโภคมากที่สุด มาจากอาหารพร้อมทานหรือพร้อมอุ่นอย่างพิซซ่าและเบอร์เกอร์ทั้งแบบแช่แข็งและสั่งกลับบ้าน โดยการบริโภคปริมาณ ‘แคลอรี่’ จากอาหารชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายเพิ่มมากขึ้นจาก 2.2% เป็น 11.2% ส่วนพวกขนมและของหวานในถุงหีบห่อถือว่าเป็นอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษรองลงมาที่นิยมบริโภคกัน โดยการบริโภคแคลอรี่จากอาหารชนิดนี้เพิ่มขึ้นจาก 10.6% เป็น 12.9%

ขณะเดียวกัน กลับพบว่าเด็กและวัยรุ่นไม่ค่อยนิยมบริโภคหรือบริโภคอาหารที่ไม่แปรรูปและอาหารที่แปรรูปน้อย (ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่า) น้อยลง โดยลดลงจาก 28.8% เป็น 23.5% ส่วนแนวโน้มที่ดีขึ้นมาจากเครื่องดื่มที่ให้ความหวาน ที่การบริโภคปริมาณแคลอรี่จากอาหารชนิดนี้ลดลงจาก 10.8% เป็น 5.3% ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ผู้ศึกษาระบุว่าเป็นผลมาจากแคมเปญรณรงค์ให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่ให้ความหวาน

ทั้งนี้ เมื่อเทียบองค์ประกอบของอาหารที่แปรรูปเป็นพิเศษกับอาหารที่ไม่แปรรูปในช่วงปี 2017-2018 พบว่า อาหารที่แปรรูปเป็นพิเศษมีเปอร์เซ็นต์แคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และโซเดียมในระดับที่มากกว่าอาหารที่ไม่แปรรูป รวมถึงว่ามีกากใย โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุในระดับที่ต่ำกว่าด้วย

นอกจากข้อค้นพบดังกล่าวยังพบว่า ในบริบทของสหรัฐฯ เมื่อจำแนกดูตามกลุ่มแล้วพบว่า กลุ่มคนผิวดำที่ไม่ได้มีพื้นเพจากลาตินอเมริกา (non-Hispanic Blacks) และกลุ่มอเมริกันเม็กซิกันมีการบริโภคอาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษในจำนวนที่มากขึ้นที่ 10.3% และ 7.6% ตามลำดับมากกว่ากลุ่มคนผิวขาวที่ไม่ได้มีพื้นเพจากลาตินอเมริกา (non-Hispanic Whites) (5.2%) อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์กลุ่มอื่นไม่ได้มีการประเมินเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะนำมาอธิบายได้ และข้อค้นพบจากกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ดังกล่าว ไม่ได้มีความแตกต่างทางสถิติที่มาจากเหตุด้านความแตกต่างของผู้ปกครองหรือรายได้ของครอบครัว

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
‘ความไม่มั่นคงทางโภชนาการ’ : ปัญหาด้านอาหารที่แท้จริงของสหรัฐฯ ที่กระทบต่อสุขภาพที่ดีของชาวอเมริกัน
โควิด-19 กับ ‘โรคอ้วนในเด็ก’ ประเด็นเฝ้าระวัง-ป้องกันโรคอันดับต้นในยุโรป นอกเหนือจากการศึกษา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ในด้านโภชนาการอาหารที่ดี อาหารที่ปลอดภัยและอุดมไปด้วยสารอาหาร
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Ultraprocessed Foods Now Comprise 2/3 of Calories in Children and Teen Diets (tuftsnow)

Last Updated on สิงหาคม 16, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น