โซลูชั่นจัดการขยะทางทะเลมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็น ‘แผน’ และ 60% เป็นการติดตามสถานการณ์

การศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลนำโดยสถาบันวิจัย Helmholtz-Zentrum Hereon ร่วมกับสถาบันวิจัยอื่น ๆ อาทิ National Research Council of Italy, National Technical University of Athens ที่สำรวจ จัดกลุ่ม และวิเคราะห์ 20,000 ผลการค้นหาโซลูชั่นด้านนวัตกรรมและวิธีการเพื่อป้องกัน (ก่อนขยะจะไหลลงสู่ทะเล) ติดตาม (เกิดขึ้นอย่างไร สะสมปนเปื้อนหรือส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน) และทำลายขยะทางทะเล จากทุกมุมโลกอย่างยั่งยืน

โดยชี้ว่ามีเพียง 177 โซลูชั่นที่เรียกได้ว่าตรงตามเกณฑ์การเป็น ‘นวัตกรรม’ ที่ใช้งานได้จริง และระบุว่าเราจะสามารถลดมลพิษทางทะเลได้ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก ถุงพลาสติกที่เต่ากลืนกินเข้าไป และหน้ากากอนามัยจากที่ใช้เพื่อป้องกันไวรัส ก็ด้วยการสนับสนุน การบูรณาการความร่วมมือโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลระหว่างประเทศ และผลักดันด้วยการตัดสินใจเชิงการเมืองที่สร้างสรรค์ จากทั้งนักวิจัย ผู้พัฒนานวัตกรรม และผู้กำหนดนโยบายจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ที่นักปฏิบัติทั้งหลายอาจนำไปปรับวิธีหรือพัฒนา ‘โซลูชั่น’ ลงมือจัดการขยะ/มลพิษทางทะเลต่อไปได้

รายละเอียดข้อสังเกตจากงานศึกษา มีดังนี้

ภาพจากการศึกษา เข้าถึงได้ที่ ที่นี่
  • ชุมชนนักวิทยาศาสตร์อาจจะมุ่งเน้นไปที่การติดตาม (monitoring) เป็นหลัก บรรดา NGOs มักจะโฟกัสที่การป้องกัน (prevention) ขณะที่การทำความสะอาดหรือการทำลายขยะ (cleanup) เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
  • ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ราว ๆ 60% ของโซลูชั่นส่วนใหญ่ ขับเคลื่อนไปสู่ทิศทาง ‘การติดตาม’ (: ติดตามสถานการณ์ขยะทางทะเล) มากกว่า
  • นักพัฒนาหลายรายยังคงใช้วิธีการทางเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน ทว่าในอนาคตของคนรุ่นต่อ ๆ ไป จะต้องการพึ่งพาโซลูชั่นที่หลากหลายกว่านี้ และจะมีความต้องการนำเอา อาทิ AI หุ่นยนต์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มาใช้ร่วมด้วย
  • ข้อจำกัดที่น่าเสียดายคือ หลาย ๆ โครงการยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา และยังไม่สามารถผลักดันให้ไปถึงขั้นนำไปปฏิบัติจริง มีโซลูชั่นเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้จริงได้หรือใช้ในทางการค้าได้
  • ทีมผู้ศึกษาชี้ว่า จะต้องผลักดันให้โซลูชั่นเป็นมากกว่า ‘แผน’ จะต้องมีการบูรณาการโซลูชั่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและผลักดันให้ถึงที่สุดโดยพลังทางการเมือง ไปจนถึงขั้นก่อตั้งเป็นอุตสาหกรรมสำหรับอนาคตขึ้นมา
  • ทีมผู้ศึกษาแนะนำว่าควรจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างนักวิจัยและหน่วยงานภาครัฐด้านสิ่งแวดล้อม
  • ทีมผู้ศึกษาแนะนำว่าควรจะกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับโซลูชั่นแต่ละประเภท อาทิ การประเมินขนาด ประสิทธิภาพ และผลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งรอยเท้า (footprint) รวมถึงการอาศัยฐานข้อมูลระดับโลกเข้ามาช่วย ซึ่งข้อนี้จะช่วยให้การพัฒนาโซลูชั่นปัจจุบันรวมถึงโซลูชั่นใหม่ ๆ ในอนาคต มีความชัดเจนมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงซากปรักหักพังทางทะเลและมลพิษของสารอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยต้องอาศัย #SDG9 เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยพัฒนาโซลูชั่น

แหล่งที่มา:
https://www.hereon.de/innovation_transfer/communication_media/news/101697/index.php.en

Last Updated on กรกฎาคม 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น