ผู้เชี่ยวชาญ UN หารือปรับตัวชี้วัดใน 17.3 กำหนดเกณฑ์ระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา’

คณะทำงานเพื่อประเมินการให้การสนับสนุนด้านการพัฒนา (Working Group on Measurement of Development Support) ภายใต้ UN Inter-Agency and Expert Group on SDG Indicators (IAEG-SDGs) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีหน้าที่จัดทำและพัฒนาตัวชี้วัดระดับโลกสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เวียน (ร่าง) ข้อเสนอปรับตัวชี้วัดใหม่ภายใต้ #SDG17 เป้าประสงค์ที่ 17.3 ว่าด้วยเรื่อง ‘การระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา’

ข้อมูลจากเว็บไซต์ IISD SDG Knowledge Hub ระบุว่า ข้อเสนอปรับตัวชี้วัดใหม่ดังกล่าวเป็นการดำเนินต่อจากมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านสถิติประจำสหประชาชาติที่ทำการทบทวนกรอบตัวชี้วัดของ SDGs เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น IAEG-SDGs ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินการให้การสนับสนุนด้านการพัฒนา (Working Group on Measurement of Development Support) เพื่อประเมินการสนับสนุนด้านการพัฒนาที่ครอบคลุมความหมายกว้างกว่าความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) ที่กำหนดไว้แต่เดิม สู่ ‘การให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการทั้งหมดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Total Official Support for Sustainable Development – TOSSD) ถึงกระนั้น ในที่ประชุมยังถกเถียงกันเรื่องระเบียบวิธีวิจัย จึงจะมีการศึกษาและหารือต่อไปถึงความเป็นไปได้ของตัวชี้วัดนี้ และจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการด้านสถิติฯ เพื่อให้การรับรองภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

(ร่าง) ข้อเสนอปรับตัวชี้วัดใหม่ดังกล่าว โดยคณะทำงานฯ ซึ่งได้ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมษายน 2563 ที่ผ่านมาและมีหน้าที่โดยเฉพาะสำหรับเป้าประสงค์ที่ 17.3 นั้น มีรายละเอียดสำคัญโดยสังเขป ดังนี้

  • เสนอและอธิบายเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นเครื่องมือใช้ระบุรูปแบบการไหลเวียนทางการเงินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนด (eligible flows) บนฐานของ TOSSD โดยมองว่าตัวชี้วัดสำหรับ 17.3 จะต้องเน้นไปที่การไหลเวียนทางการเงินที่เป็นการช่วยสนับสนุน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา’ ทั้งนี้ จะช่วยให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) และเงินไหลเวียนจากบริษัทเอกชนอื่น ซึ่งอาจไม่ได้มีการกำหนดการสนับสนุนทางการเงินเพื่อเป้าประสงค์หรือเป้าหมายใดภายใต้ SDGs มาก่อน

  • จากที่เป้าประสงค์ 17.3 มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 17.3.1 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) และความร่วมมือใต้-ใต้ คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ และ 17.3.2 มูลค่าของการโอนเงินกลับประเทศ (เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนของยอดรวม GDP ทั้งหมด (ร่าง) ข้อเสนอฉบับนี้ เสนอและอธิบายรูปแบบการไหลเวียนทางการเงินอย่างเฉพาะเจาะจงที่จะต้องจัดอยู่ภายใต้กรอบตัวชี้วัดย่อย 6 ตัว (sub-indicators) ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ข้อมูลที่รวบรวมนำมาจัดทำ TOSSD และ Development Assistance Committee Creditor Reporting System (DAC-CRS) ทั้งนี้ ตัวชี้วัดย่อย 6 ตัวดังกล่าว มีดังนี้
    • เงินให้เปล่าอย่างเป็นทางการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Official sustainable development grants)
    • เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนอย่างเป็นทางการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Official concessional sustainable development loans)
    • เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนอย่างเป็นทางการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Official concessional sustainable development loans) – ในรายละเอียดมีข้อแตกต่างจากเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนข้างต้น
    • การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
    • การระดมเงินทุนจากภาคเอกชน (Mobilized private finance)
    • เงินให้เปล่าจากบริษัทและ/หรือบุคคล (Private grants)

โดยตั้งแต่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะทำงานฯ อยู่ระหว่างการเปิดรับความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอฯ และการปรึกษาหารือ (consultation) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะนำผลลัพธ์ไปพิจารณาอีกครั้งระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2564 ก่อนจะนำเสนอต่อ IAEG-SDGs และคณะกรรมาธิการด้านสถิติประจำสหประชาชาติเพื่อให้ความเห็นและรับรองภายในเดือนมีนาคม ปี 2565 ต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
Consultation Underway on New Indicator for SDG Target 17.3 (IISD)

Last Updated on สิงหาคม 26, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น