SDG Vocab | 59 – Multi-stakeholder Partnership – หุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย

องค์การสหประชาชาติให้คำจำกัดความ ‘หุ้นส่วนความร่วมมือ’ คือ “ความสัมพันธ์แบบบร่วมมือกันโดยสมัครใจจากระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ โดยผู้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทั้งหมดตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมหรือทำหน้าที่เฉพาะ และเพื่อร่วมแบ่งปันความเสี่ยงและความรับผิดชอบ ทรัพยากรและผลประโยชน์” สำหรับหุ้นส่วนความร่วมมือในมุมมองของนโยบายสาธารณะ ถูกนิยามว่าเป็น “ข้อตกลงความร่วมมือโดยสมัครใจขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และ/หรือภาคประชาสังคม ที่มีรูปแบบเป็นทางการ มีขั้นตอนการตัดสินใจร่วมกันอย่างไม่มีลำดับชั้น (non-hierarchical)และเพื่อแก้ปัญหานโยบายสาธารณะ

เมื่อความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันตามที่ปรากฏใน SDGs ทั้ง 17 ข้อนั้นใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าที่จะใช้ความสามารถและทรัพยากรของสถาบัน หน่วยงานรัฐ หรือบริษัทหนึ่งเพียงลำพังเพื่อแก้ไขได้ ความเชื่อมโยงระหว่างกันของเป้าหมายเหล่านี้ไม่เพียงต้องการแนวทางดำเนินการที่มีความบูรณาการมากขึ้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยเฉพาะ ‘หุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย’ หรือ multi-stakeholder partnerships ตามที่วาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa Action Agenda) ได้ระบุว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระดมทรัพยากร การแบ่งปันความรู้ความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) แต่ละภาคส่วนมาใช้ในการหาโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทั้งหุ้นส่วนเองและประโยชน์ต่อส่วนรวม (common good)

Partnerships2030 ระบุว่า การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย จะต้องมีคุณลักษณะสี่ประการ ดังต่อไปนี้

  • หุ้นส่วนจะต้องมาจากภาคส่วนที่ต่าง ๆ กัน อย่างน้อย 3 ภาคส่วน จากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ
  • หุ้นส่วนทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากภาคส่วนใดจะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตั้งแต่การปรึกษาหารือไปจนถึงกระบวนการตัดสินใจอย่างมีฐานะเท่าเทียมกัน
  • การมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทั้งหมดเป็นไปอย่างมีระบบ มีความเป็นสถาบันและความเป็นอิสระในระดับหนึ่งที่เหมาะสม และดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ใช่แค่การปรึกษาหารือแบบเฉพาะกิจหรือการสนทนาสั้น ๆ เป็นระยะ ๆ
  • มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายทางสังคมที่ซับซ้อน เช่น วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความยากจน หรือการอพยพย้ายถิ่น เป็นต้น

คำว่า หุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย กำหนดขึ้นเพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญของแนวคิดการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือบนความแตกต่างของทั้งมุมมอง เป้าหมาย และส่วนได้ส่วนเสียของภาคส่วนต่าง ๆ แต่ก็อาจกำลังเผชิญปัญหา ความเสี่ยง ข้อกังวล หรือมีปณิธานร่วมกัน ที่ต้องการการทำงานร่วมกันเท่านั้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

คำว่า ‘หุ้นส่วนความร่วมมือจากภาควส่วนที่หลากหลาย’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG17 – (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา’

Target 17.16 : enhance the global partnership for sustainable development complemented by multi-stakeholder partnerships that mobilize and share knowledge, expertise, technologies and financial resources to support the achievement of sustainable development goals in all countries, particularly developing countries


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
Partnering for Sustainable Development – Guidelines for Multi-stakeholder Partnerships to Implement the 2030 Agenda in Asia and the Pacific (UNESCAP)
An introduction to multi-stakeholder partnerships (The Partnering Initiative)
THE MSP GUIDE (Wageningen Centre for Development Innovation)
What is an MSP? (Partnerships 2030)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น