ร่วมเรียนรู้ประเด็นการผลิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืนจากเรื่องราวของอิตาลี และอาเซียน ผ่านฟอรัมเสวนา

SDG Move ขอเชิญทุกท่านร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืนไปด้วยกัน ผ่านงานเสวนา Forum on Sustainable Production and Consumption, Best Practices and Ideas from Italy and ASEAN จัดโดยศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) ร่วมมือกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานี้

สำหรับงานดังกล่าว ทุกท่านจะได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่่งยืน SDG12 (Responsible Consumption and Production) ผ่านการบรรยายและการเสวนา รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศอิตาลี และกลุ่มประเทศอาเซียน  จากผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศอิตาลีและประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเริ่มต้นจากการปรับรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้ยั่งยืนขึ้น

โดยงานเสวนาในครั้งนี้ จะพาเราไปเรียนรู้การผลิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืน ในสามประเด็นสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง: ทบทวนความยั่งยืนผ่านการผลิตและการบริโภคของชุมชนเมืองปัจจุบัน

รูปแบบ มาตรฐาน และวิถีชีวิตด้านการบริโภคของผู้คนในเขตเมืองมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน
ในแง่นี้ เมืองมีศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยลด ‘รอยเท้าสิ่งแวดล้อม’ (Environmental footprint) จากกิจกรรมของมนุษย์ลงได้ โดยกระทำผ่านแนวทางการผลิตและการบริโภค (ที่ตระหนักถึงความยั่งยืน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตและการบริโภคอาหาร เสื้อผ้า ไปจนถึงการสร้างขยะหรือปล่อยของเสียในเมือง เป็นต้น

ทุกท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘รอยเท้าสิ่งแวดล้อม’ (Environmental footprint) จากบทความออนไลน์ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์ บรรยายเรื่อง Green Living: How Green is Green? ได้ที่นี่

สอง: สร้างความยั่งยืนผ่านการทำความเข้าใจความหลากหลายที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลจริง

วิธีการที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภคในเมือง คือ การที่องค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีภูมิหลังประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย (transdisciplinary) เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น และแนวปฏิบัติ เช่นที่ในงานเสวนาครั้งนี้เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวและแนวทางจากประเทศอิตาลี ที่มุ่งเน้นการจัดการนโยบายร่วมกัน และในท้ายที่สุดนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลจริง อาทิ ด้านอาหาร และแฟชั่น

สาม: เพราะ “ความยั่งยืน” นั้นทุกคนสร้างได้: บทเรียนจากไทย อินโดนีเซีย และอิตาลี

เรื่องราวจากประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนประเทศอิตาลีได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคและผู้ผลิตสามารถร่วมกันลงมือทำเพื่อให้เกิดแนวทางที่ยั่งยืนได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การลดจำนวนการผลิตและการซื้อของใหม่ การเลือกแบรนด์ผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านการตระหนักถึงคุณค่าไปจนถึงการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน การคำนึงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ผู้ผลิตที่มีจริยธรรมความยั่งยืน และการสนับสนุนการใช้บริการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำ

ทุกท่านสามารถรับชมงานเสวนาเต็มรูปแบบที่นี่่
A forum on sustainable production and consumption, best practices and ideas from Italy and ASEAN: Part 1

A forum on sustainable production and consumption, best practices and ideas from Italy and ASEAN: Part 2

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG12: การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022

Author

  • Phongnarin Sukcham

    Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น