อ่านข่าวจากสหรัฐฯ กับประเด็นการเก็บข้อมูล วางแผนกลุ่มประชากรเพื่อรับวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคสำหรับทุกเชื้อชาติ

ถิรพร สิงห์ลอ

ประเด็นความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพบนฐานของความแตกต่างทางเชื้อชาติและเพศ (racial and gender health disparities) อาจเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ และมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอย่างมากโดยเปรียบเทียบ อย่างในกรณีของสหรัฐฯ ชนเชื้อชาติอื่นทั้งชาวแอฟริกัน ลาตินอเมริกา ชนพื้นเมืองและชนอลาสกา มีอัตราการเข้ารับการรักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลมากกว่าคนผิวขาว 3.6 เท่า และคนในชุมชนคนผิวสีมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าคนผิวขาวประมาณ 2 เท่า

สหรัฐฯ มีการฉีดวัคซีนล็อตแรกในช่วงระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ถึง 14 มกราคม 2564 โดยรายงานของศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention) มีข้อมูลเปิดเผยว่าร้อยละ 63 จากจำนวนประชากร 13 กว่าล้านคนที่มารับวัคซีนเป็นผู้หญิง มีร้อยละ 55 เป็นคนอายุมากกว่า 50 ปี และคนผิวขาวที่ร้อยละ 60.4 ทั้งนี้ อาจเป็นข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์นัก รวมถึงว่ามีข้อมูลอีกประมาณร้อยละ 48 “ที่หายไป” ซึ่งเป็นข้อมูลด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์อื่นในสหรัฐฯ

การแจกจ่ายและการได้รับวัคซีนโควิด-19 จึงกลายเป็นประเด็น “ความเท่าเทียม (Equality)” และ “ความเสมอภาค (Equity)” การใช้ยุทธศาสตร์แบบความเท่าเทียมหมายถึงการให้วัคซีนแบบเดียวกันกับทุกคนและทุกคนได้รับโอกาสนั้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ยุทธศาสตร์ความเสมอภาคเป็นการตระหนักว่าแม้จะให้วัคซีนหรือโอกาสแบบเดียวกันกับทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถได้รับวัคซีนหรือโอกาสนั้นเหมือน ๆ กัน ด้วยเพราะมีต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถที่จะ “เข้าถึง” และได้รับโอกาส ดังนั้น ในกรณีนี้ การจ่ายแจกวัคซีนจึงควรเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์ความเสมอภาค” เพื่อให้การที่กลุ่มประชากรซึ่งมีต้นทุนที่ต่างกันไม่เป็นอุปสรรคต่อการรับวัคซีน จึงนำไปสู่การกำหนดแนวทางให้มีการฉีดวัคซีนแบบแบ่งเป็นระยะและให้กับกลุ่มผู้เปราะบางเป็นกลุ่มแรก อาทิ บุคลากรทางสาธารณสุขและผู้สูงอายุ แม้ว่าในทางปฏิบัติ ด้วยความที่วัคซีนระยะแรกมีจำกัด อาจทำให้บางคนเข้าถึงวัคซีนก่อน-หลัง และนำมาซึ่งปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน

ความตั้งใจที่จะจัดการกับประเด็นความเสมอภาคอาจดีขึ้นได้ Marcella Nunez-Smith หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษด้านความเสมอภาคกับประเด็นโควิด-19 ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Chair of President Biden’s covid-19 equity task force) มองว่าคงจะเป็นการด่วนสรุปหากจะบอกว่าการแจกจ่ายวัคซีนเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมเสมอภาคกัน สหรัฐฯ ควรเร่งจัดเก็บข้อมูลการรับวัคซีน โดยต้องมีการออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับชาติ ว่าจะต้องมีข้อมูลประเภทใดบ้าง อาทิ เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ เพศ เพื่อให้มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับนำไปประมวลผลทางสถิติ และมีข้อมูลเพื่อการติดตามอัตราการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล การเสียชีวิต หรือการเข้ารับวัคซีนที่ไม่ได้สัดส่วนกันของพลเมืองอเมริกัน ไปจนถึงจะสามารถนำไปสู่การวางแผนจัดลำดับความสำคัญของการจ่ายแจกวัคซีนได้ต่อไป ในที่นี้ ข้อมูลที่สะท้อนกลุ่มประชากรในสังคมจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยปกป้องชีวิตและชุมชนคนอเมริกันทุกเชื้อชาติ

แหล่งอ้างอิง:

https://www.washingtonpost.com/health/2021/02/01/covid-vaccine-race-ethnicity-data/

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG10

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น