“ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เป็นปัญหาสาธารณสุข” แนวทางระบบสุขภาพจึงมีบทบาทสำคัญเพื่อจัดการปัญหา

ผู้ให้บริการสุขภาพเป็นจุดแรกและอาจเป็นจุดเดียวที่ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence: GBV) ติดต่อเพื่อรับความช่วยเหลือ ดังนั้นระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงนี้ได้ จึงมีบทบาทสำคัญในการเพื่อตอบสนอง ป้องกัน และนำไปสู่ความพยายามในการจัดการกับความรุนแรงต่อสตรี เด็กหญิง และกลุ่มที่มีความเสี่ยง

การใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence: GBV) สร้างผลกระทบทางลบต่อผู้รอดชีวิตทั้งทางสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาว ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี ภาวะซึมเศร้า อาการป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนอย่างร้ายแรง (PTSD) และไปจนถึงกระทั่งการเสียชีวิต

ผู้ให้บริการสุขภาพไม่เพียงแต่ให้การรักษาพยาบาลผู้รอดชีวิตและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังต้องทำหน้าที่เชื่อมประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รอดชีวิตได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น บริการดูแลด้านสุขภาพจิตและทางสังคมจิตใจ (Psychosocial) ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การสนับสนุนด้านที่พักอาศัย การสนับสนุนการดำรงชีพด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในระบบสุขภาพมักขาดเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเรื่องการใช้ความรุนแรง หรือมีทรัพยากรจำกัด หรือมีความคิดว่าความรุนแรงไม่ได้เป็นปัญหาด้านสุขภาพ หรือไม่รู้วิธีให้การช่วยเหลือที่ถูกต้อง

เพื่อทำให้แน่ใจว่าระบบสุขภาพจะสามารถตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ต้องมีการพัฒนาองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  • มีการทำความเข้าใจผลกระทบของความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิงและลูก ๆ ของมารดาที่เป็นผู้รอดชีวิต
  • มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและเจ้าหน้าที่ระดับการจัดการ เพื่อให้สามารถมีการบริการตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศแบบยึดเอาผู้รอดชีวิตเป็นศูนย์กลางและมีประสิทธิภาพ
  • มีการบูรณาการการดูแลผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพหลัก มากกว่าจะเป็นการจัดตั้งบริการใหม่คู่ขนาน
  • ให้การสนับสนุนความพยายามระยะยาวในการปลุกจิตสำนึก ฝึกอบรม และสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทุกระดับให้สามารถมีการตอบสนองที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแก่ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
  • มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนผู้ให้บริการ ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสร้างความเป็นส่วนตัวและเก็บความลับให้ผู้รอดชีวิตได้ มีโปรโตคอล/มาตรฐานของขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร และสร้างเครือข่ายส่งต่อเพื่อให้ความช่วยเหลือ
  • มีการจัดทำรายงาน การตรวจสอบ และการประเมินผลการบริการอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
- (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่น

ที่มา : Gender based violence is a public health issue: using a health systems approach (WHO)

Last Updated on ธันวาคม 8, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น