เทรนด์ ‘Femtech’ กำลังมาแรง เมื่อการใช้เทคโนโลยีรักษาโรคมี ‘สุขภาพของผู้หญิง’ เป็นศูนย์กลาง

Femtech ในความหมายแรกคือสินค้า ซอฟแวร์ และเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้หญิงทั่วโลก ในความหมายที่สองคือสตาร์ทอัพด้านสุขภาพที่ส่วนใหญ่ก่อตั้งและนำโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น และขณะเดียวกันในอีกความหมายหนึ่ง Femtech คือการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ปรับให้มีพื้นที่สุขภาพของผู้หญิงโดยแท้’

เพราะประเด็นปัญหาสุขภาพของประชากรผู้หญิงมีหลากหลายตั้งแต่ระบบสืบพันธุ์ การเจริญพันธุ์ (fertility) รอบเดือนมามาก/น้อย หมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ การดูแลหลังคลอด (postpartum care) การดูแลและให้นมบุตร (lactation) การเสียชีวิตของมารดา ปัญหาโรคหัวใจ มะเร็ง โรคเรื้อรัง การติดเชื้อ ไปจนถึงสุขภาพจิต ความเครียด ความมั่นใจในรูปลักษณ์และการเคารพตนเอง และสุขภาวะความเป็นอยู่ในแต่ละวัน เป็นต้น การรักษาและการสนับสนุนที่ตรงจุดความต้องการทางสุขภาพของผู้หญิงจึงจำเป็น

เทคโนโลยีสุขภาพในปัจจุบันจึงเคลื่อนหน้าไปที่ ‘สุขภาพของผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง’ เกิดเทรนด์สตาร์ทอัพที่เรียกว่า ‘Femtech’ เพื่อตอบโจทย์และ ‘หาทางออก’ ให้กับประเด็นสุขภาพของผู้หญิง โดยเป็นการออกแบบแผนการรักษาที่เฉพาะสำหรับบุคคลมากขึ้น เข้าถึงได้และราคาถูกมากขึ้น ไปพร้อมกับการสร้างสมดุลจากความไม่เสมอภาคทางเพศในระบบสุขภาพ (Health Disparities)

โดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัพ Femtech ประมาณ 200 แห่งทั่วโลก ที่มีขนาดตลาดประมาณ US$8.5 พันล้านในปี 2561 และคาดว่าจะขยายตลาดใหญ่ขึ้นที่ประมาณ US$60.01 พันล้านภายในปี 2570 โดยเฉพาะในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่โรคภัยและการติดเชื้อมักเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และในย่านเอเชียแปซิฟิก ที่มีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อาทิ ในจีน อินเดีย และญี่ปุ่น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 กล่าวถึงการสร้างหลักประกันว่าด้วยสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย
เป้าประสงค์ที่ 3.1 กล่าวถึงการลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลก
เป้าประสงค์ที่ 3.2 กล่าวถึงการยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
เป้าประสงค์ที่ 3.3 กล่าวถึงการยุติโรคติดต่อ
เป้าประสงค์ที่ 3.4 กล่าวถึงการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ การป้องกันและการรักษาโรค รวมถึงการสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
เป้าประสงค์ที่ 3.8 กล่าวถึงการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ มีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 กล่าวถึงการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
เป้าประสงค์ที่ 5.6 กล่าวถึงการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
เป้าประสงค์ที่ 5.b กล่าวถึงการเพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิง

แหล่งอ้างอิง:
https://techhq.com/2021/03/how-will-womens-health-technology-grow-in-2021/
https://www.health.com/mind-body/femtech-womens-health

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG5

Last Updated on มีนาคม 10, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น