มีอะไรในข้อตกลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน “Pact for the Future

Pact for the Future คืออะไร?

Pact for the Future หรือ ข้อตกลงเพื่ออนาคต เอกสารข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลที่จะเป็นผลลัพธ์ของการประชุม Summit of the Future ซึ่งเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายน 2024 นี้ เพื่อกำหนดเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับมือกับต่อความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดในอนาคต โดยเน้นการดำเนินการ (action-oriented) ที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ Pact for the Future ยังจะรวมถึง Declaration on Future Generations และ Global Digital Compact ที่จะเป็นภาคผนวกของเอกสารหลักด้วย

การประชุม Summit of the Future คืออะไร อ่านต่อลิงก์ด้านล่าง


กระบวนการเจรจาและร่างเอกสาร

กระบวนการจัดทำเอกสารทั้งสามฉบับนี้ ดำเนินไปบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและความเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นจากรัฐสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดกระบวนการ ซึ่งประกอบด้วยการปรึกษาหารือ การรวบรวมข้อเสนอแนะ และการปรับปรุงแก้ไขเอกสารอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเอกสาร Pact for the Future นั้นพัฒนามาจากการรวบรวมความคิดเห็น (input) จากหลากหลายภาคส่วนกว่า 500 รายการ

ผู้มีส่วนในการเจรจาและร่างเอกสาร ประกอบด้วย รัฐสมาชิกสหประชาชาติ หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ กลุ่มหลักและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ (Major Groups and Other Stakeholders-MGoS) องค์กรภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน เยาวชน และชนพื้นเมือง

การเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในเอกสารแต่ละฉบับได้รับการอำนวยความสะดวกโดยคู่ประเทศ ดังนี้ เยอรมนีและนามิเบียรับผิดชอบในการจัดทำ Pact for the Future จาเมกาและเนเธอร์แลนด์รับผิดชอบในการจัดทำ Declaration on Future Generations และสวีเดนและแซมเบียรับผิดชอบในการจัดทำ Global Digital Compact

กระบวนการเริ่มต้นด้วยการร่างเอกสารตั้งแต่ปลายปี 2023 และได้มีการเผยแพร่ร่างเอกสารฉบับศูนย์ (zero draft) ในต้นปี 2024 หลังจากนั้นได้มีการหารือและแก้ไข้เอกสารอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้ข้อสรุปในฉบับแก้ไขครั้งที่สาม (Revision 3) ซึ่งเป็นเอกสารฉบับที่มีแนวโน้มใกล้เสร็จสมบูรณ์ โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมภายใต้กระบวนการ silence procedure เพื่อให้รัฐสมาชิกพิจารณาและแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดเฉพาะจุด หากไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าเอกสารฉบับดังกล่าวได้รับการยอมรับ

Slience procedure เป็นกลไกที่สหประชาชาติใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการตัดสินใจร่วมกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ซับซ้อนและมีความเห็นหลากหลาย เมื่อมีการเสนอข้อเสนอหรือร่างข้อตกลง ผู้แทนจากรัฐสมาชิกทุกประเทศจะมีเวลาที่กำหนดไว้ในการพิจารณา หากไม่มีใครแสดงความเห็นคัดค้านภายในระยะเวลานั้น ข้อเสนอนั้นจะถือว่าได้รับการยอมรับ  อย่างไรก็ตาม หากมีรัฐสมาชิกใดคัดค้านก่อนหมดเวลา หรือที่เรียกว่า “break silence procedure” และการเจรจาจะต้องดำเนินต่อไป เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง

สถานะเอกสารทั้งสามฉบับ ล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2024

  • เอกสาร Pact for the Future อยู่ในร่างฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 (Rev. 4) ลงวันที่ 13 กันยายน 2024
  • เอกสาร Declaration on Future Generations อยู่ในเอกสารแก้ไขฉบับสุดท้าย (Final revised) ลงวันที่ 9 กันยายน 2024
  • เอกสาร Global Digital Compact อยู่ในร่างฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 (Rev.4) ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2024

สาระสำคัญของเอกสารทั้ง 3 ฉบับ

Pact for the Future

ฟื้นฟูความร่วมมือพหุภาคีและจัดการกับความท้าทายระดับโลกผ่านพันธสัญญาและการดำเนินการใหม่

ในเอกสารประกอบด้วย บทนำ และประเด็นการดำเนินการ โดยการดำเนินการทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย

  1. การพัฒนาที่ยั่งยืนและการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา
  2. สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
  3. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความร่วมมือดิจิทัล (รายละเอียดใน Global Digital Compact) 
  4. เยาวชนและคนรุ่นอนาคต (รายละเอียดใน Declaration on Future Generations)
  5. การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมของการกำกับดูแลระดับโลก

Declaration on Future Generations

เสริมความเข้มแข็งของพันธสัญญาในการปกป้องผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นอนาคตในทุกกระบวนการตัดสินใจ

ในเอกสารประกอบด้วย บทนำ หลักการนำทาง พันธสัญญา และการดำเนินการ โดยหลักการนำทางที่สำคัญทั้งหมด 10 ข้อ ประกอบด้วย

  1. รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
  2. เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
  3. สร้างโอกาสให้คนรุ่นหลังได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่มั่งคั่งและยั่งยืน
  4. ส่งเสริมภราดรภาพของคนระหว่างรุ่นและความสามัคคีทางสังคม 
  5. ปกป้องสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและยั่งยืน
  6. ใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม
  7. บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็กหญิง
  8. ให้คนพิการมีส่วนร่วมในสังคมและกระบวนการตัดสินใจอย่างเท่าเทียม
  9. ขจัดการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่างๆ
  10. มีระบบพหุภาคีที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

Global Digital Compact

สร้างวิสัยทัศน์ร่วมของการมีอนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัย เปิดกว้าง และครอบคลุมสำหรับทุกคน

ในเอกสารฉบับประกอบด้วยเป้าหมายและพันธสัญญา ระบุการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย และกำหนดข้อกำหนดในการติดตามผลและทบทวน เป้าหมายทั้งหมด 5 ข้อประกอบด้วย

  1. ปิดช่องว่างดิจิทัลและเร่งความก้าวหน้าของ SDGs
  2. ขยายการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล
  3. ส่งเสริมพื้นที่ดิจิทัลที่ครอบคลุม เปิดกว้าง ปลอดภัย และมั่นคง
  4. ส่งเสริมการกำกับดูแลข้อมูลระหว่างประเทศที่เป็นธรรม
  5. กำกับดูแลเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ รวมถึง AI เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

แม้ว่า Pact for the Future จะไม่ได้เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่การที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับรองข้อตกลงนี้ ก็ถือเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนกว่า โดยความคืบหน้าในการดำเนินงานจะถูกนำมาประเมินและทบทวนอย่างต่อเนื่องในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในแต่ละปี เพื่อให้มั่นใจว่าทุกประเทศกำลังร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

ข้อมูล Summit of the Future และเอกสารทั้งหมดที่ : https://www.un.org/en/summit-of-the-future

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Summit of the Future (UN)

Last Updated on กันยายน 18, 2024

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น