เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ให้ AI ช่วยคิดสูตรอาหาร ที่ทั้งถูกใจ ถูกปาก และถูกโภชนาการให้คุณ

นักวิทยาศาสตร์ จาก Rensselaer Polytechnic Institute และ IBM Research ในนิวยอร์ก พัฒนา Machine Learning ที่ใช้ algorithm ในการจดจำรสนิยมการรับประทานอาหารเพื่อประกอบการแนะนำสูตรอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้ โปรแกรมดังกล่าวจะสามารถบันทึกความชอบ/ไม่ชอบ อาหารที่แพ้ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้มีปัญหาโรคหัวใจ

โปรแกรมนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า Health Empowerment Analytics Learning & Semantics (HEALS) ซึ่งใช้ AI Deep Learning ในการปรับคำแนะนำเกี่ยวกับสูตรอาหารและเวลาที่เหมาะสมของมื้ออาหารและของว่างในแต่ละวัน ให้เหมาะกับเงื่อนไขของแต่ละคน

ผู้ที่เข้าร่วมโปรแกรม HEALS จะต้องให้รายละเอียดประเภทอาหารที่ชอบ เงื่อนไขหรือปัญหาด้านสุขภาพ และเป้าหมายด้านโภชนาการ พวกเขาจะต้องบันทึกการบริโภคอาหารทุกมื้อ เพื่อเป็นข้อมูลให้ระบบเรียนรู้พฤติกรรมการรับประทานอาหารของแต่ละคนและสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทั้งตอบสนองรสนิยมการบริโภคของแต่ละบุคคล ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วย

International Diabetes Federation (IDF) ประมาณว่าในปี 2017 มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 451 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 693 ล้านคนภายในปี 2045 หากไม่มีการดำเนินการป้องกันที่เหมาะสม จากการศึกษาของวารสาร Nature พบว่าโรคเบาหวานอยู่ในสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกของประชากรทั่วโลก

เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน ภาวะความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสม เช่น โรคอ้วน ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อัตราประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30% เมื่อปี 2018 เป็นมากกว่า 42% ของประชากรสหรัฐฯ ในปัจจุบันทั้งหมด และสัดส่วนผู้ที่เป็นโรคอ้วนรุนแรง (severe obesity) ในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกัน

จากรายงาน the Global Burden of Disease study ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet พบว่า โภชนาการไม่ดีเป็นสาเหตุเชื่อมโยงไปถึงหนึ่งในห้าของการเสียชีวิตทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 11 ล้านราย หากมี Machine Learning เป็นตัวช่วยในการรับประทานอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสมก็จะเป็นหนึ่งแนวทางในการป้องกันสุขภาพด้วยตนเองได้

การดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2030

อ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2021/02/ai-food-programme-recipes-healthy-living-diabetes-obesity/

Last Updated on กุมภาพันธ์ 23, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น