1 ใน 3 ของคนไนจีเรีย ‘ไม่มีงานทำ’ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

สำนักงานสถิติแห่งชาติไนจีเรีย เผยแพร่ข้อมูล ‘อัตราการว่างงาน’ (unemployment rate) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 33.3% หรือ 23.2 ล้านคนจาก 70 ล้านคน อายุ 15-60 ปีที่สามารถทำงานได้ สูงที่สุดที่ไนจีเรียเคยประสบมา ขณะที่ ‘อัตราการทำงานต่ำกว่าระดับ’ (underemployment rate) หรือผู้ที่มีงานทำแต่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามคำนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยังคงอยู่ในอัตราที่สูงถึง 22% แม้ว่าจะลดลงจากเดิม (28.6%) ก็ตาม เป็นความน่ากังวลที่สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย

ขณะที่ จำนวนแรงงานกำลังมีเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเด็กจบใหม่จากการศึกษาระดับสูงหรือระดับมหาวิทยาลัย ทว่าปริมาณงานที่มีไม่เพียงพอและลดน้อยลงนั้น ทำให้คนกลุ่มนี้ว่างงานถึง 50.7% (ในกลุ่มที่จบสูงสุดที่ระดับมัธยมศึกษา) และ 40.1% (ในกลุ่มที่จบอนุปริญญา หรือปริญญาตรี)

ในบทความ ‘A third of Nigerians are unemployed: here’s why’ โดย Ndubisi Nwokoma  ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Lagos ไนจีเรีย วิเคราะห์ไว้ว่าภาวะการว่างงานเป็นผลมาจาก ‘สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่’ ที่มีมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2559  และถดถอยลงเมื่อเผชิญกับโควิด-19 ในปี 2563 ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลงที่ 3.62% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563

ทั้งยังประสบกับปัญหาความไม่ต่อเนื่องหรือไม่ชัดเจนในเชิงนโยบายที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจและโดยเฉพาะภาคการลงทุน ประกอบกับประเด็นอื่น ๆ อาทิ ค่าเงินที่อ่อน การคมนาคมและการขนส่งที่เป็นปัจจัยเอื้อต่อการทำธุรกิจหรือเข้าถึงตลาดยังอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมย่ำแย่ การไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมถึงความปลอดภัยและมั่นคงในชีวิตที่ต่ำ ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อเรื่องการลงทุนทั้งสิ้น

และแม้ว่าในบางเมืองที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ก็ยังประสบกับปัญหาการว่างงานอยู่นั้น ศาสตราจารย์ Ndubisi Nwokoma มองว่าเพราะบริบทเช่นนั้นทำให้เกิดการไหลเข้าสู่เมืองซึ่งมีงานจากภาคอุตสาหกรรมรองรับ และการกระจุกตัวหางานทำในเมืองซึ่งมีงานจำกัด ทำให้มีหลายคนที่ว่างงาน ขณะเดียวกัน เมื่อใดที่สถานการณ์ตลาดโลกหรือราคาน้ำมันตกต่ำย่อมกระทบกับงบประมาณภาครัฐ เมื่อมีงบประมาณน้อยลงก็จะกระทบกับงบประมาณสำหรับแต่ละเมืองในการกระตุ้นให้มีงานทำอีกทอดหนึ่ง

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือการไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและการปกครองที่เน้น ‘การควบคุมและสั่งการ’ อาทิ การปิดพรมแดนไม่ให้มีการนำเข้าสินค้า ทำให้กระทบกับการค้าขายใน ‘ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐในแอฟริกาตะวันตก’ (Economic Community of West African States – ECOWAS) และส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าด้วย กอปรกับปัญหาการสูญเสียการนำเข้าเงินทุนต่างประเทศ (Capital Importation) ที่ลดลงเรื่อยมา เช่น 1,548.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 เป็น 908.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกปี 2560 เป็นต้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้สูญเสียจำนวนงาน กล่าวคือ สูญเสีย ‘ศักยภาพ’ ที่จะสร้างงานให้ทุกคนมีงานทำ

นอกจากนี้ ปัญหาการก่อการร้ายในแถบแอฟริกาซับซาฮารา ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระทบกับจำนวนแรงงาน ผลิตผล และผลิตภาพโดยเฉพาะจากภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

ตอกย้ำด้วยมาตรการกักตัวอยู่บ้าน รักษาระยะห่าง จำกัดการเดินทาง และทำงานอยู่ที่บ้าน ที่โควิด-19 กระทบกับภาคการบินและการบริการมากที่สุด และภาคธุรกิจในทุกกิจการและอุตสาหกรรม ด้วยเหตุผลตัวอย่างที่ประกอบกันทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมอัตราการว่างงานของไนจีเรียล่าสุด ถึงได้สูงที่สุดเป็นประวัติการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 เศรษฐกิจและการจ้างงานที่ครอบคลุม ยั่งยืน
– (8.1) การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดมีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพและให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
– (8.6) ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ที่ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ภายในปี 2563
#SDG16
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง และผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้มีขีดความสามรถเพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

แหล่งที่มา:
https://theconversation.com/a-third-of-nigerians-are-unemployed-heres-why-159262
https://www.thecable.ng/nbs-nigerias-unemployment-rate-hits-33-3-highest-ever

Last Updated on พฤษภาคม 14, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น