ไทยเตรียมผลิตยาช่วยเลิกบุหรี่ ‘ไซทิซีน’ พร้อมดันเข้าบัญชียาหลัก เพื่อราคาถูก เข้าถึงได้

31 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day ตั้งแต่ปี 1988 โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดธีมว่า “Commit to Quit” หรือ ”มุ่งมันเพื่อเลิกบุหรี่” เพื่อเน้นย้ำและกระตุ้นให้ทุกฝ่ายดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่อย่างเข้มแข็ง

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ มศว. ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สสส. และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาเลิกบุหรี่ชนิดใหม่ในประเทศไทยที่ชื่อว่า “ไซทิซีน” (Cytisine)  ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติจาก “เมล็ดจามจุรีสีทอง” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน ทำให้ผ่อนคลายไม่หงุดหงิดในขณะที่เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา
ที่มา: สสส.

โดยไซทิซีน เป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลและใช้อย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน โดยขณะนี้งานวิจัยการพัฒนาไซทิซีนของไทยอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง และหากเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางองค์การเภสัชกรรมจะทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลักดันยานี้ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ กำหนดขายในราคาถูกเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการดำเนินเพื่อควบคุมยาสูบที่เป็นรูปธรรมอย่างน่าประทับใจ ตั้งแต่เมื่อได้ลงนามให้สัตยาบันเป็นประเทศลำดับที่ 36 ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control: FCTC) ซึ่งกรอบอนุสัญญาฯ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2548

ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle Income) ประเทศแรกของโลกที่มีการบังคับใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ (Plain Packaging) กับบุหรี่ทุกยี่ห้อที่ขายในประเทศไทย ตั้งแต่ธันวาคม 2562

โดยมาตรการการควบคุมยาสูบของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของ FCTC แล้ว ได้แก่ การจัดพิมพ์คำเตือนโทษของการสูบุหรี่เป็นรูปภาพบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบ การห้ามโฆษณา หรือทำ CSR ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ การห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขาย การกำหนดแนวทางการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการยาสูบกับเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค การจัดสรรงบประมาณจากภาษียาสูบเพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบ และการกำหนดสถานที่สาธารณะและที่ทำงานเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100%

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งห้ามสูบ-ทิ้งก้นบุหรี่-บนชายหาดที่เป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการดูแลสุขภาพนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการรักษาทรัพยาการทางทะเล รักษาชายหาดและทะเลที่สะอาด ลดการปนเปื้อนต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ เหล่านี้เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลให้ประเทศไทย

แม้ว่าจะมีมาตรการการควบคุมหลายด้านที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง แต่ไทยก็มีช่องว่างของการจัดเก็บภาษียาสูบ โดยรายงาน Cigarette Tax Scorecard เมื่อปี 2020 ได้ให้คะแนนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไทยที่ 1.75 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งเป็นการประเมินจากข้อมูลนโยบายการเก็บภาษียาสูบทั้งหมด 174 ประเทศ ไทยได้ลำดับท้ายๆ ที่ 103

จุดด้อยของโครงสร้างภาษียาสูบไทย คือ การมีอัตราการเก็บภาษีต่างกัน เช่น ภาษียาเส้นสำหรับบุหรี่มวนเองต่ำกว่าภาษีบุหรี่ซองมาก ผู้สูบจึงเปลี่ยนไปใช้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เสียภาษีต่ำกว่าแทนที่จะช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ไปเลยเมื่อมีการขึ้นราคาสูง และแม้ว่าประเทศไทยจะมีการขึ้นภาษีบุหรี่เฉลี่ยเป็นประจำทุกๆ 3 ปี แต่ก็ตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานสถิติการบริโภคยาสูบของประเทศไทย 2561 จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า จากการสำรวจในปี 2560 พบว่า ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) 

อ่านเพิ่มเติม :
WHO report on the global tobacco epidemic 2019: offer help to quit tobacco use
ThaiPublica – รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ

* อยากเลิกบุหรี่ โทร สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 *

การควบคุมยาสูบและการพัฒนายาช่วยเลิกบุหรี่ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะเรื่องยาสูบ (3.a) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (3.4) การเข้าถึงบริการสาธารณสุข (3.8) และการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน และการเข้าถึงยาและวัคซีนถ้วนหน้า (3.b)

ที่มา: Bangkok Post , สสส. , HFocus , Dailynews

Last Updated on พฤษภาคม 31, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น