รายงาน ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์และสุขภาพเด็ก’ ฉบับแรกจาก WHO เรียกร้องให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อผูกมัดมากขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานฉบับแรก เกี่ยวกับผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อสุขภาพเด็ก ‘Children and Digital Dumpsites และเรียกร้องให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อผูกมัดมากขึ้น เพื่อปกป้องดูแลเด็ก วัยรุ่น และสตรีมีครรภ์หลายล้านคนทั่วโลกจากภัยคุมคามด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการจัดการขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

มีผู้หญิงถึง 12.9 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในภาคส่วนการจัดการขยะนอกระบบเศรษฐกิจ (informal sector) เช่น คนเก็บขยะ หรือ รถเร่รับซื้อของเก่า ซึ่งพวกเธอมีโอกาสต้องสัมผัสกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นพิษที่จะทำอันตรายต่อสุขภาพผู้หญิงเอง และทำให้ลูกในครรภ์มีความเสี่ยงด้านสุขภาพและพัฒนาการไปตลอดชีวิต ผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ทารกในครรภ์เสียชีวิต การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีขนาดตัวเล็กผิดปกติ และเมื่อโตขึ้นอาจมีปัญหาด้านพัฒนาทางสติปัญญาและอารมณ์

ในขณะเดียวกัน มีเด็กและวัยรุ่นมากกว่า 18 ล้านคน ซึ่งบางคนมีอายุไม่เกิน 5 ปี มีส่วนร่วมภาคอุตสาหกรรมแปรรูปขยะนอกระบบ เด็กมักได้รับหน้าที่ให้ช่วยพ่อแม่หรือผู้ดูแลในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมือของเด็กมีขนาดเล็ก จึงสามารถจัดการกับชิ้นส่วนขนาดเล็กได้คล่องแคล่วกว่า และยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ใช้ชีวิต ไปโรงเรียน และเล่นใกล้พื้นที่รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปนเปื้อนสารพิษปริมาณสูง โดยเฉพาะตะกั่วและปรอท ที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายและระดับสติปัญญา โดยเฉพาะสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา เด็กๆ ที่สัมผัสขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากสารพิษมากกว่าผู้ใหญ่เพราะพวกเขาตัวเล็กกว่า และไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ดีเท่าผู้ใหญ่

จากข้อมูลของ Global E-waste Statistics Partnership (GESP) พบว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 21% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2019 คิดเป็นการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงจำนวน 53.6 ล้านตัน ยังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณขยะประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการขยายตัวของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในปี 2019 มีเพียง 17.4% เท่านั้นที่เข้าถึงสถานที่จัดการหรือรีไซเคิลอย่างได้ถูกต้อง ตามการประมาณการล่าสุดของ GESP ขยะส่วนที่เหลือถูกทิ้งอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำหรือปานกลาง ซึ่งขยะเหล่านั้นจะถูกรีไซเคิลโดยแรงานนอกระบบที่จะได้รับความเสี่ยงจากสารพิษโดยตรง

รายงาน Children and Digital Dumpsites เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและมีข้อผูกพันจากผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขภาพของคนงาน ครอบครัว และชุมชนของพวกเขา มีการติดตามผลผลลัพธ์ด้านสุขภาพจากการสัมผัสกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวกในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น และส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ภาคสุขภาพดำเนินการลดผลกระทบด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัย ติดตาม และป้องกันการสัมผัสสารพิษในเด็กและผู้หญิง สร้างความตระหนักรู้ถึงผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนให้มีการวิจัยข้อมูลและสุขภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่คนงานนอกระบบต้องเผชิญให้มากขึ้น

เข้าถึงรายงาน Children and Digital Dumpsites และ Infographics

ขยะอิเล็กทรอนิกส์และสุขภาพเด็ก เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่าง ๆ (3.9)
- SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8)
- SDG12 แผนการผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ในประเด็น ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4)

ที่มา: WHO

Last Updated on มิถุนายน 16, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น