SDG Vocab | 23 – Decouple – แยกออกจากกัน

decouple หมายความตรงตัวว่า ‘แยกออกจากกัน‘ คำนี้อาจจะเป็นที่คุ้นหูในปี ค.ศ 2020 จากข่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องการแยกระบบการผลิตหรือห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศจีนโดยสิ้นเชิง

แต่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าประสงค์ที่ 8.4 คำว่า decouple ปรากฏพร้อมกับประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อเราพูดถึง decouple/decoupling ในบริบทนี้แล้ว หมายถึง ‘การแยกระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกับการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม’ ในการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างที่เคยเป็นมา ด้วยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรหรือพลังงานน้อยลงสำหรับการผลิต

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ตระหนักถึงปัญหาและได้นำแนวคิดเกี่ยวกับ Decoupling ไปเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเอกสารรายงาน “Environmental Strategy for the First Decade of the 21st Century” โดยทาง OECD ให้นิยามว่า Decoupling เปรียบเสมือนการทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง เศรษฐกิจที่ดี และ ผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ทาง United Nations Economic Commission for Latin America and the Caribbean (ECLAC) ได้แนะนำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาควรคำนึงถึง ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้อยู่บนฐานการใช้ทรัพยากรเข้มข้น’ (nonmaterial economic growth) เช่น เน้นที่ภาคบริการ ที่ใช้ทรัพยากรจำนวนน้อยกว่าภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม

ซึ่งระดับของ Decoupling สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับด้วยกัน

1. Absolute decoupling ซึ่งคือระดับของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในขณะที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลดลง

2. Relative decoupling ซึ่งคือระดับของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น มากกว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

ที่มา : https://www.worldometers.info/world-population/

ในปัจจุบันแนวคิด Decouple เริ่มเป็นที่ถูกพูดถึงเพราะโลกมีแนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้นหากอ้างอิงจากเว็บไซต์ worldometers.info ซึ่งรวมข้อมูลการเกิดและการตายของประชากรทั่วโลก โดยในปี ค.ศ. 2021 มีจำนวนประมาณ 7,800 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีหลังๆ ซึ่งการที่ประชากรในโลกเพิ่มขึ้นนำมาสู่การบริโภคและการผลิตที่มากขึ้นส่งผลมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เมื่อมีการผลิตสินค้าที่มากขึ้นจะนำไปซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เช่น จำนวนขยะพลาสติกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.3 พันล้านตันตั้งแต่ช่วงต้น ค.ศ.1950

Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกได้เสนอยุทธศาสตร์เกี่ยวกับหลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity and Decoupling) แนวคิดหลัก ๆ ของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการนำของเสียวนเข้ากลับมาในวัฏจักรการผลิตเพื่อนำไปสู่การบริโภคหรือการบริการ เช่น กระดาษที่ใช้แล้วทิ้งสามารถนำไปรีไซเคิล (Recycle) ให้มาเป็นกระดาษใหม่ ผลิตภัณฑ์ข้างหอกลั่นผลิตกระดาษถูกขายต่อเพื่อนำไปทำอิฐ ของเสียที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตความร้อนและพลังงาน ขี้เถ้าที่เหลือใช้เป็นผลพลอยได้เพื่อฟอกขาวกระดาษใหม่อีกครั้ง ทำให้ใช้ทรัพยากรใหม่จากธรรมชาติน้อยลง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี สถาบันการศึกษาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน (EESI) และสถานทูตเยอรมนีได้ประสบความสำเร็จในการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ความสำเร็จจากนโยบายนี้ยังก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมมากรวมถึงเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้น จนนำไปสู่เพิ่มอัตราการจ้างงาน 350,000 คน จากความสำเร็จของเยอรมันแสดงให้เห็นถึงการเจริญทางเติบโตทางเศรษฐกิจโดยส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดน้อยลง (Absolute decoupling)

ดังนั้น การตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Absolute decoupling ควรเป็นเป้าหมายระยะยาวของทุกประเทศเพื่อที่ประชากรรุ่นหลังจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความมั่นคงทางอาชีพจากเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น แต่ในระยะสั้น การตั้งเป้าหมายแบบ Relative decoupling จะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้รวดเร็ว เช่น ภาคเอกชนเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตนำไปสู่การขับเคลื่อนความสามารถของประเทศในการแข่งขันกับหลายๆ ประเทศในโลกได้ดียิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

คำว่า ‘แยกออกจากกัน’ ปรากฏอยู่ใน #SDG8 – (8.4) พัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะแยกออกจากกัน ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปีของแผนการทำงานเพื่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการ ไปจนถึงปี 2573

Target: 8.4 Improve progressively, through 2030, global resource efficiency in consumption and production and endeavour to decouple economic growth from environmental degradation, in accordance with the 10-year framework of Programmes on sustainable consumption and production, with developed countries taking the lead


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
(UNEP) DECOUPLING NATURAL RESOURCE USE AND ENVIRONMENTAL IMPACTS FROM ECONOMIC GROWTH
(UNEP) Plastic Pollution
(EESI) The State of Germany’s Energy Transition
(Green Network) บทบาทอุตสาหกรรมต่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Itthiporn Teepala

    Knowledge Communication [Intern] สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความรวดเร็ว มีผลกระทบต่อความยั่งยืนหรือมั่นคงในด้านต่าง ๆ อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น