ครบ 1 ปี สนธิสัญญาทะเลหลวง มีเพียง “ปาเลา” และ “ชิลี” ให้สัตยาบัน ห่วงบังคับใช้จริงไม่ได้หากให้สัตยาบันไม่ครบ 60 ประเทศ

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ครบรอบหนึ่งปีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง (High Seas Treaty) ในการประชุมสหประชาชาติ “Intergovernmental Conference on BBNJ” ซึ่งต่อมามีประเทศกว่า 87 ประเทศร่วมลงชื่อรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2566 อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาข้างต้น จะยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร (UN Ocean Conference) ในปี 2568 และต้องมีอย่างน้อย 60 ประเทศให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญานี้  ขณะที่ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาและบรรจุเป็นกฎหมายในประเทศเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือชิลีและปาเลา

Laura Meller หัวหน้าโครงการ Protect The Oceans ของกรีนพีซกล่าวว่า “ข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงเมื่อปีที่แล้วเป็นสัญญาณที่บอกว่า ภายในโลกที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การปกป้องระบบนิเวศยังคงสำคัญกว่าการต่อสู้ทางการเมืองและผลประโยชน์ของบริษัท การบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงถูกประกาศด้วยประโยคที่ว่า ‘เรือได้ถึงฝั่งแล้ว’ แต่หากเรือลำนี้จะสามารถปกป้องมหาสมุทรได้จริง รัฐบาลอย่างน้อยหกสิบประเทศต้องให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาก่อนเวลาจะหมด”

Laura Meller ยังเสริมอีกว่า “ปัจจุบันมีเพียงชิลีและปาเลาเท่านั้นที่ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา ทั้งสองประเทศนี้ได้ส่งสัญญาณว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันปกป้องสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แม้จะมีบางประเทศที่เริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน แต่ยังถือว่าช้าเกินไป เราหวังว่าพวกเขาจะเดินรอยตามชิลีและปาเลา เพื่อให้เราสามารถเริ่มงานในการปกป้องมหาสมุทรจริง ๆ เสียที”

ด้าน ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงนามเต็มหรือลงนามจริง (signature) ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยินยอมเข้าผูกพันตามสนธิสัญญา ที่จะไปสู่การให้สัตยาบัน (ratification) ในขั้นต่อไป แต่ทั้งนี้ เราก็เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะเร่งผลักดันกระบวนการดังกล่าว เราว่าจะได้เห็นประเทศไทยเป็นชาติแรก ๆ ในภูมิภาค ที่เป็นผู้นำในการปกป้องมหาสมุทรของโลก โดยขณะนี้ประเทศในอาเซียนที่ได้ลงนามแล้ว ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว”

ทั้งนี้  สนธิสัญญาฉบับนี้นับว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ตามแผน 30×30 (30×30: A Blueprint for Ocean Protection) ที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันเเละฟื้นฟูมหาสมุทรจากผลกระทบให้ได้ร้อยละ 30 ภายในสิบปี คือระหว่างปี 2564 – 2573 และเป็นเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการดูแลฟื้นฟูพื้นที่มหาสมุทร นั่นเท่ากับว่าเราจะไม่สามารถปกป้อง 1 ใน 3 ของมหาสมุทรทั่วโลกได้ 

ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันสนธิสัญญาได้ที่: https://act.seasia.greenpeace.org/th/th/protect-the-ocean

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาล-เอกชนทั่วโลก ผนึกกำลังขับเคลื่อน 410 ข้อผูกพัน เพื่อการพัฒนามหาสมุทรที่ยั่งยืน ในการประชุม Our Ocean Conference 2022
– ทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับ 4 โซลูชันจากโครงการ Flagship ที่ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึก
– SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– เสียงส่วนใหญ่ใน IUCN World Conservation Congress เห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกชั่วคราว
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
 – 4 ประเทศลาตินอเมริกา ประกาศ “แนวระเบียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก” มากกว่า 500,000 ตร.กม.
ประชุม IGC-5.2 ไทยและอีกเกือบ 200 ประเทศ ลงนามใน ‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ ใบเบิกทางคุ้มครองความอุดมสมบูรณ์ในน่านน้ำสากล

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา : ครบรอบหนึ่งปีสนธิสัญญาทะเลหลวง กรีนพีซจี้รัฐบาลเร่งให้สัตยาบันปกป้องมหาสมุทร (Green Peace Thailand) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น