กลยุทธ์ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุ SDGs มากถึง 15 เป้าหมาย

การศึกษาล่าสุดจากนักวิจัยของ Brown School แห่ง Washington University in St. Louis พบหลักฐานสนับสนุนว่ากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ของประชาชน เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

การศึกษาเรื่อง “Physical Activity Promotion and the United Nations Sustainable Development Goals: Building Synergies to Maximize Impact” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Physical Activity and Health เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นการศึกษาที่สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายที่จะมีประโยชน์โดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกับการบรรลุ SDS อีกหลายๆ เป้าหมายอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก

การศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์การส่งเสริมการออกกำลังกายและประโยชน์ต่อความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 8 ใน 17 ข้อ ชัดเจนที่สุด อันได้แก่ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG 5) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9) ลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11) การต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) และ สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง (SDG 16) และมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้อีก 7 เป้าหมายสำเร็จลุล่วงด้วย

นักวิจัยทำการศึกษาด้วยการพัฒนาแบบจำลองใหม่มาใช้ทดสอบการจำลองใช้กลยุทธ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับขยายขนาด ในเมืองต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของประเทศที่มีรายได้ต่ำ ปานกลาง และสูง

การใช้กลยุทธ์เหล่านี้ให้ผลที่แตกต่างไปตามบริบทเฉพาะ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (Low-to-Middle-Income Countries : LMICs) ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ด้านสุขภาพจากกลยุทธ์ส่งเสริมการออกกำลังกายมากกว่าประชากรที่อาศัยในเมืองในประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Countries : HICs) ที่มีการพึ่งพาการใช้รถยนต์สูง เมืองที่ใช้รถยนต์สูงมีส่วนรับผิดชอบต่อสัดส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่ปล่อยออกมาทั่วโลก ดังนั้น ในประเทศเหล่านี้ นโยบายส่งเสริมการออกกำลังกายอาจมีประโยชน์ในการช่วยลดผู้เสียชีวิตจากการจราจรและช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศมากกว่า แต่การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางและสันทนาการที่ต้องใช้ร่างกายมากขึ้นและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจต้องการนโยบายจูงใจให้คนลดใช้รถยนต์ควบคู่ไปด้วย

กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการบรรลุ SDGs คือ กลยุทธ์ที่มีหลายองค์ประกอบ (multicomponent) และทำงานพร้อมกันหลายภาคส่วน (multisectoral) ไม่ใช่เฉพาะแต่ภาคสุขภาพเท่านั้น ภาคส่วนอื่นต้องทำงานก้าวข้ามผ่านเฉพาะเป้าหมายเดิมของตนเอง เพื่อใช้กิจกรรมทางกายเป็นตัวขับเคลื่อนการสร้างโลกที่มีความยั่งยืน

กลยุทธ์เพิ่มกิจกรรมทางกาย เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (3.4). และลดการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (3.6)
- #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย จ่ายได้ และคำนึงคนเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ด้วย (11.2)
- #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น บูรณาการมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

ที่มา : Promoting physical activity is key to achieving U.N. Sustainable Development Goals (Washington University in St. Louis.)

Last Updated on กรกฎาคม 23, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น