เลขาธิการ UN ย้ำ โลกจะต่อสู้กับ climate change ได้ เมื่อประเทศ G20 เห็นตรงกัน – แสดงบทบาทนำ

เมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ เมืองเนเปิลส์ อิตาลี ที่ประชุม G20 ด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และพลังงาน (G20 Environment, Climate and Energy) ไม่สามารถเห็นพ้องกันว่าด้วยเรื่อง ‘ความมุ่งมั่น’ (commitment) ร่วมกันของนานาประเทศในการยกเลิกการใช้ถ่านหินและเป้าหมายที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส ทำให้การหารือใน 2 ประเด็นสำคัญนี้ต้องนำไปถกแถลงกันอีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ณ กรุงโรม อิตาลี ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ หรือหนึ่งวันก่อนเริ่มการประชุม COP26 (การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ณ กลาสโกว์ สกอตแลนด์

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ António Guterres จึงแถลงตอบต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความกังวลใจ โดยชี้ว่า ‘โลกไม่อาจเดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เลย หากปราศจากการนำของบรรดาประเทศ G20’ ทั้งด้านนโยบายและการลงมือทำ รวมถึงการให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา

เพราะตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า เพื่อที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ โลกจะต้องมีการกำหนด ‘เป้าหมายที่ทะเยอทะยานแต่สามารถบรรลุได้’ จึงได้กำหนดไว้ว่าให้มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ก่อนปี 2593 (2050) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อันตราย 45% ภายในปี 2573 (2030) จากระดับของปี 2553 (2010) รวมถึงจะต้องไม่มีการใช้ถ่านหินเพิ่มหลังจากปี 2564 (2021)

พร้อมกันนี้ ประเทศชั้นนำ G7 และประเทศพัฒนาอื่น ๆ จะต้องร่วมมือร่วมใจสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การสนับสนุนด้านการปรับตัว (adaptation) และฟื้นคืนจากความผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง (resilience) เป็นงบประมาณอย่างน้อย 50% ของงบประมาณด้านการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ตลอดจนสนับสนุนให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีมีการผนวกรวมหมุดหมายเหล่านี้ไว้เป็นแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศชั้นนำจะต้องไม่ลืมว่า ในแต่ละวันมีประชากรโลกนับพันล้านคนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างก็ต้องการความแน่นอนว่าบรรดารัฐ/รัฐบาลชั้นนำเหล่านี้จะสร้างอนาคตที่มีความทนทานและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่ อย่างไร

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหวังว่า ในท้ายที่สุด บรรดารัฐชั้นนำจะสามารถเห็นพ้องกันทั้งเจตจำนงค์ทางการเมืองและในรายละเอียดสำคัญข้างต้น เพื่อที่จะนำไปสู่การผลักดันอย่างมีนัยสำคัญต่อโลกต่อไปในที่ประชุม COP26 (จากที่เลื่อนการประชุมมาแล้วเพราะโควิด-19)

G7 ประกอบไปด้วย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และสหภาพยุโรป
G20 ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, เม็กซิโก, รัสเซีย, แอฟริกาใต้, ซาอุดิอาระเบีย, เกาหลีใต้, ตุรกี, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.a) ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัด ในฐานะที่เป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินงานอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน (capitalization)
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
No pathway to reach the Paris Agreement’s 1.5˚C goal without the G20: UN chief (UN)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น