ชาวบ้านกังวลว่าการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรม EEC อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในการจัดสรรน้ำ

แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เร่งการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยสามจังหวัด ได้แก่ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา อาจทำให้เกิดความตึงเครียดในการจัดสรรน้ำในพื้นที่ระหว่างภาคการเกษตร เมือง และภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

EEC ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเพื่อเป็นฐานการผลิตของอุตสากรรมที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ – Thailand 4.0 เช่น ยานยนต์ยุคใหม่เทคโนโลยีชีวภาพ AI หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและอวกาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจัดโซนพื้นที่ขนาด 50,000 ไร่ให้สามารถก่อสร้างโรงงานได้

นอกจากนั้น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยเช่นกัน ความแห้งแล้งที่รุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อแหล่งน้ำในพื้นที่และทำให้เกษตรกรท้องถิ่นประกอบอาชีพอย่างยากลำบาก และยังมีปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติ รวมถึงการรุกคืบของน้ำเค็มจากชายฝั่งเข้าสู่แม่น้ำก็ทวีความรุนแรงขึ้น

พิมพ์เขียวของ EEC ประกอบด้วยแผนการสร้างเมืองอุตสาหกรรม การขยายสนามบินและท่าเรือนานาชาติ โครงสร้างทางรถไฟใหม่ การขยายตัวของเมืองและศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับ ด้วยเหตุนี้ การจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่และที่มีอยู่เดิม พื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ชุมชนเมืองและหมู่บ้าน กลายเป็นจุดที่จะทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่ปะทุขึ้น

นอกจากการขาดแคลนน้ำเพราะความต้องการน้ำจากจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ปัญหาน้ำเสียที่มาจากเขตอุตสาหกรรมก็เป็นประเด็นที่เกษตรกรในพื้นที่มีความกังวล เพราะอาจทำอันตรายให้กับผลผลิตสัตว์น้ำได้

ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมี EEC และภาคอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายได้น้ำเสมอเนื่องจากมีกำลังจ่าย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในพื้นที่และความขัดแย้งตามมา

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเรียกร้องให้แผนพัฒนา EEC มีโครงการ 6R ที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้น้ำทั่วทั้งสามจังหวัด นั่นคือ reduce, reuse, recycle, rethink, redesign และ regulation ซึ่งโรงงานบางแห่งได้พิสูจน์แล้วว่าการรีไซเคิลน้ำเป็นไปได้ แต่ทัศนคติและการปฏิบัติแบบเดียวกันยังไม่ได้รับการปรับให้เข้ากันอย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืนของการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้คนในพื้นที่ด้วย

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ที่ปรึกษาแผน EEC ด้านการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า การช่วยเหลือเกษตรกรทำแหล่งเก็บน้ำสำรองของตนเองโดยได้รับเงินการอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของแผน EEC อยู่แล้ว

ในขณะเดียวกัน รศ.ดร.สุจริต ได้ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลโดยเรียกร้องให้มีการกักเก็บน้ำให้ได้มากขึ้นในช่วงฤดูฝน และมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีข้อมูลดิจิทัลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการใช้น้ำ และมีแผนสำรองในการลดปริมาณการใช้น้ำและการรีไซเคิลน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังข้อเสนอ จึงมีโอกาสที่จะมีแผนการเพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่นี้

ความขัดแย้งในการจัดสรรน้ำ และการจัดการน้ำเสีย อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล ในประเด็น มลพิษทางน้ำและการบำบัดน้ำเสีย (6.3), ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ (6.4), การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมทั้งในและระหว่างประเทศ (6.5)
- SDG 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ในประเด็น ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (9.4)
- SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4), ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle (12.5)

ที่มา : CNA

Last Updated on พฤษภาคม 2, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น