เกาะลังกาวี เตรียมแผนนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและความยั่งยืน

หมู่เกาะลังกาวีวางแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังปิดตัวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ครั้งนี้จะเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) และให้ความสำคัญกับอุทยานธรณี Machinchang Cambrian ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก แทนการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญเชิงปริมาณ (mass tourism) ซึ่งสร้างความเสื่อมโทรมให้แหล่งท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

หมู่เกาะลังกาวี (Langkawi) ซี่งได้ชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งรัฐเกดะห์ (Kedah) ประเทศมาเลเซีย แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในทะเลอันดามันที่ดึงดูดผู้มาเยือนมากถึง 3.9 ล้านคนเมื่อปี 2019 กำลังจะเปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้งในกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวลังกาวี 2020-2021 โดย Langkawi Development Authority (Lada) หลังจากปิดเกาะไปถึง 18 เดือนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศมาเลเซีย

Nasaruddin Bin Abdul Muttalib ผู้อำนวยการ Lada กล่าวถึงแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวลังกาวีในครั้งนี้ที่จะ “มุ่งเน้นไปที่แผนปฏิบัติเร่งรัดเพื่อเตรียมและรีแบรนด์ลังกาวีให้เป็นจุดหมายปลายทางปลอดโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยและความยั่งยืน” โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจะมาเยือนเป็นกลุ่มประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว และจะเปิดให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาได้ช่วงธันวาคม-มกราคม แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มหลังต้องได้รับการกักตัวเป็นเวลาสั้น ๆ

การพัฒนาที่เน้นการรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากของลังกาวีทำให้เกิดการสูญเสียมรดกทางธรรมชาติไปอย่างน้อยร้อยละ 50 เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และพิษโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของคนบนเกาะลังกาวีหยุดชะงัก ดังนั้น แผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวครั้งนี้จึงมุ่งเป้าไปที่ความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมและการรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญ คือ อุทยานธรณี Machinchang Cambrian อายุกว่า 550 ล้านปีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโกเมื่อปี 2007 โดยเป็นอุทยานธรณี (Geopark) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนบนเกาะลังกาวีได้รับความสนใจและมีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่บนเกาะเริ่มปรับตัวสู่แนวทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแล้ว โดยมีตัวอย่างเช่น บริษัทนำเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวใช้เรือพายคายัคในบางพื้นที่เพื่อป้องกันการรบกวนปะการัง บริษัทขนส่งทางทะเลเปลี่ยนมาใช้เรือคาตามารันแบบใหม่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และเริ่มล่องเรือเพื่อการศึกษาพานักเรียนและครูไปทัวร์อุทยานธรณี Machinchang การแบนการใช้พลาสติกอย่างเข้มงวด รวมถึงการหลีกเลี่ยงให้อาหารสัตว์ป่า

นอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้การขนส่งอาหารมายังเกาะได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เกิดความเปราะบางด้านความมั่นคงทางอาหาร เจ้าของธุรกิจที่พักจึงเปลี่ยนมาทำฟาร์มออแกร์นิก เพื่อให้คนท้องถิ่นได้ผักปลอดยาฆ่าแมลงรับประทาน

นักธรรมชาติวิทยา Irshad Mobarak ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในลังกาวีให้ความเห็นว่า การพัฒนาไม่ควรมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง การลงทุนเพื่อเปลี่ยนมาทำการเกษตร การประมง และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะทำให้ลังกาวีมีความสามารถในการแข่งขันกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ มากขึ้น เมื่อเปิดเดินทางอีกครั้ง โดยในช่วงล็อกดาวน์ Lada ได้พัฒนาพื้นที่มากกว่า 22 เอเคอร์ (ประมาณ 55 ไร่) เพื่อการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้จัดอบรมการทำฟาร์มผักและการเพาะพันธุ์กั้งให้กับชุมชนท้องถิ่น

Fabio Delisi ผู้อำนวยการ Lotus Asia Tours ที่ทำงานในมาเลเซียและลังกาวีมากว่า 30 ปีได้ให้ความเห็นต่อแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเกาะลังกาวีว่า “รัฐบาลควรวางเป้าหมายที่ชัดเจนและมีแผนโดยละเอียดเพื่อการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนในการอนุรักษ์เขตสงวนธรรมชาติและพื้นที่ประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก แทนที่จะเป็นเพียงเพื่อแสวงหาการเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกโดย Unesco และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งอันที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้การเป็นตัวสร้างนักท่องเที่ยวที่นิยมเพียงมาเซลฟี่ และทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสถานที่ท่องเที่ยวและประชากรเป็นส่วนใหญ่”

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน 
- (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
- (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อจะติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
และยังมีการพูดถึง #SDG2 ขจัดความหิวโหยและบรรลุความมั่นคงทางอาหาร

ที่มา : Malaysia to restart tourism first in Langkawi, with a new focus on ecology, sustainability and its Unesco Geoforest park (South China Morning Post)

Last Updated on สิงหาคม 21, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น