แก้ปัญหาที่แหล่งปล่อยก๊าซมีเทน: วิธีการที่เร็วที่สุดเพื่อชะลอให้ภาวะโลกร้อนขึ้นเป็นไปอย่างช้าลงได้

มีเทน (methane) เป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่สองรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุด แม้ว่าจะมีคุณสมบัติที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80 เท่าเนื่องจาก 1 โมเลกุลของมีเทนมีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนได้มากกว่า 1 โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีเทนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะคงอยู่ได้เป็นเวลาสั้นกว่าที่ 12 ปีก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมลง เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานมากกว่า 100 ปี

ในแง่นี้ ทำให้เห็นว่าความพยายามที่จะหันมาลดระดับการปล่อยก๊าซมีเทนลง น่าจะทำได้รวดเร็วกว่าความพยายามลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากทำได้เช่นนั้น ก็จะช่วยชะลอไม่ให้โลกร้อนขึ้นเร็วเกินไปทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง

แหล่งมีเทนมีจากทั้งในธรรมชาติ อย่างพื้นที่ชุ่มน้ำที่ปล่อยก๊าซมีเทนคิดเป็น 30% ของการปล่อยก๊าซมีเทนในโลก มหาสมุทร ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) พืชพรรณ ไฟป่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมของมนุษย์ที่คิดเป็น 60% ของแหล่งปล่อยก๊าซมีเทน โดยมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การย่อยสลายในกองภูเขาขยะ ภาคเกษตรกรรมและการปศุสัตว์

ภาพแสดงของ NASA ชี้แหล่งปล่อยก๊าซมีเทน อ่านต่อ ที่นี่

ตามรายงานการประเมินสถานการณ์ล่าสุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ระบุว่า การลงมือทำอย่างเร่งด่วนในการลดระดับมีเทนลงเป็นก้าวที่สำคัญและจำเป็น ประกอบกับข้อตกลงระหว่างผู้นำโลกในการประชุม COP26 ที่จะถึงนี้ จะมีประเด็นว่าด้วยการควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนในฐานะความพยายามหนึ่งที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งทะยานสูงสุดที่เกิน 1.5°C กว่าในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

โดยวิธีการสามารถทำได้ตั้งแต่พยายามกินเนื้อสัตว์น้อยลง ปรับเปลี่ยนอาหารที่ใช้เลี้ยงวัว ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกัน/กักเก็บ/ปิดผนึกไม่ให้ก๊าซมีเทนรั่วไหลจากแหล่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน หรือก๊าซ อาทิ เหมืองถ่านหิน หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดปริมาณขยะออแกนิคในกองภูเขาขยะ หรือลดปริมาณขยะอาหารเพื่อที่แหล่งทิ้งขยะจะลดก๊าซมีเทนได้ 35% จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีขึ้น ส่วนผู้ที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติ เช่นในกรณีของสหภาพยุโรป สามารถกำหนดให้มีขั้นตอนการตรวจสอบมาตรการที่จะจัดการ ติดตาม และควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรตระหนักว่าการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงได้ จะช่วยลดมลพิษทางอากาศที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร กล่าวคือ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพและทางการเงินด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด
โครงการ Carbon Mapper วางแผนปล่อยกลุ่มดาวเทียมโคจรรอบโลก เพื่อตรวจจับจุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ในด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.4) ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตร ที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่
-(7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.3) ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาการจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือ/จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า

แหล่งที่มา:
Tackling methane levels is the quickest way to slow climate change, say scientists (World Economic Forum)
Cutting methane emissions is quickest way to slow global heating – UN report (the Guardian)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น