53 รัฐสมาชิกในที่ประชุม WHO ประจำยุโรป มุ่งมั่นเตรียมระบบสุขภาพในปัจจุบัน-อนาคตพร้อมรับมือกับความท้าทายทางสุขภาพ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-15 กันยายน 2564) ผู้แทนของบรรดารัฐสมาชิก 53 ประเทศและภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ครั้งที่ 71 เห็นพ้องกันในข้อตกลงที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางเพื่อปกป้องสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของประชากรชาวยุโรปในปัจจุบันและอนาคต ทั้งการเตรียมการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต การสร้างระบบสุขภาพที่มีแข็งแรงและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ การบริการสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) การสร้างภูมิคุ้มกัน การตระหนักและรับมือกับประเด็นสุขภาพจิต ตลอดจนการกระจายทรัพยากรให้เพียงพอเพื่อจัดการกับปัญหาช่องว่างในการเข้ารับบริการสุขภาพ ทั้งนี้ โดยตระหนักว่าจะต้องเชื่อมโยงประเด็นสุขภาพกับภาคส่วนอื่น และทำงานร่วมกันระหว่างภูมิภาค เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วส่งผลดีต่อภาพรวมทั้งโลก

ดร. Hans Henri P. Kluge ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ระบุว่า ในการที่ภูมิภาคยุโรปจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างพร้อมเพรียงและรวดเร็วนั้น จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำทางการเมืองและความร่วมมือเพื่อที่จะยุติวิกฤติการณ์ได้ ตามมาด้วยการทำให้ระบบการบริการสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพจิตแข็งแรงขึ้น และจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิภาค ตลอดจนความเชื่อมโยงกับประเด็น/ภาคส่วนอื่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการศึกษา เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วส่งผลดีต่อภาพรวมทั้งโลก

โดยการที่เน้นความสำคัญของระบบการบริการสาธารณสุขมูลฐาน เพราะเปรียบได้กับสันหลังและหัวใจของระบบสาธารณสุข โดยเป็นจุดเข้ากระทำ (entry points – จุดตั้งต้นเพื่อดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง) เป็นจุดที่มีการปฏิสัมพันธ์กับประชากรโดยมาก กล่าวคือ มีความสำคัญยิ่งกับชุมชน ทั้งช่วยลดแรงกดดันที่จะมีต่อส่วนอื่นของระบบสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งหากการบริการสาธารณสุขมูลฐานมีความเข้มแข็ง จะเป็นรากฐานหนึ่งที่ช่วยให้ระบบสาธารณสุขในภาพรวมสามารถตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและเอื้อให้เกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมได้ นั่นจึงนำมาสู่การที่รัฐสมาชิกรับมติที่มุ่งมั่นจะทำให้ระบบการบริการสาธารณสุขมูลฐานของตนเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เร่งจัดการกับปัญหาด้านดิจิทัลที่อาจทำให้บางกลุ่มคนร่วงหล่นจากการเข้าไม่ถึงบริการ และตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นและภูมิภาคให้ตรงจุด

ประเด็นสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ยุโรปมองว่าเป็นวิกฤติ ตั้งแต่ก่อนที่โรคระบาดจะปะทุพบว่ามีประชาชนราว 150 ล้านคนในภูมิภาคที่เผชิญกับภาวะนี้ และน้อยคนนักที่จะได้รับการบำบัดรักษา ขณะที่โรคระบาดได้เข้ามาทำให้ปัญหาดังกล่าวร้ายแรงขึ้น โดยแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องการการใส่ใจมากที่สุด แต่ยังมีเรื่องของการขาดแคลนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ รัฐสมาชิกจึงรับมติตามกรอบการปฏิบัติการด้านสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป (WHO European Framework for Action on Mental Health 2021–2025) ให้ผนวกปัญหาสุขภาพจิตเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นไปที่งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการบริการ และให้ผู้ที่ต้องการรับบริการมากที่สุดสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งนี้ รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถมีเครื่องมือสำหรับจัดการกับสุขภาพจิตที่ตนเผชิญและช่วยเหลือผู้อื่นได้

ทั้งนี้ ในมิติของการจัดการกับโรคระบาด European Immunization Agenda 2030 (EIA 2030) สนับสนุนวาระการสร้างภูมิคุ้นกันโรค 2573 (Immunization Agenda 2030) ตั้งแต่ระบบและโครงสร้างของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่จะต้องแข็งแรงและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาค การสร้างภูมิคุ้มกันโรคตลอดช่วงชีวิต และปรับให้ตรงกับปัญหาและความต้องการการฉีดวัคซีนของท้องถิ่น

ประเด็นสำคัญอีกประการคือการพยายามหา ‘ฉันทามติ’ ที่จะจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ให้ยุติลงได้ โดยต้องยอมรับว่านานาประเทศจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาข้ามชาติได้โดยใช้โซลูชั่นระดับชาติเท่านั้น ศ. Mario Monti อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีและประธานคณะกรรมาธิการ Pan-European Commission on Health and Sustainable Development จึงให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะมีธรรมาภิบาลระดับโลกในด้านสุขภาพ เช่น ผ่านการริเริ่มให้มีคณะกรรมการ Global Health and Finance Board ภายใต้ร่มของ G20 นับเป็นสนธิสัญญาเพื่อจัดการกับโรคระบาดที่จะอนุญาตให้สามารถตัดสินใจร่วมกันได้และมีนโยบายวัคซีนระดับโลกได้

นอกจากนี้ ในส่วนของ Pan-European Commission on Health and Sustainable Development ก็ได้มีการนำเสนอข้อเสนอแนะในการจัดการกับโรคระบาดในอนาคต ซึ่งครอบคลุมประเด็น เช่น สุขภาวะของโลก ความหลากหลายทางชีวภาพ การปฏิรูปธรรมาภิบาลด้านสุขภาพและงบประมาณ การลงทุนในนวัตกรรม และหุ้นส่วนของภาครัฐ-ภาคเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐสมาชิกได้เห็นพ้องที่จะจัดตั้งคณะทำงานใหม่เพื่อที่จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปฏิบัติ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ภายในปี 2573
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
-(3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
-(3.b) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคที่ติดต่อและไม่ติดต่อ
-(3.c) ส่งเสริมการใช้งบประมาณด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝนบุคลากรด้านสุขภาพ
-(3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งที่มา:
53 Member States of the WHO European Region agree to safeguard the health and well-being of their populations, now and in the future (WHO Europe)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น