6 หลักการสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีกระบวนการตัดสินใจที่นำด้วยข้อมูล โดยมี ‘ประเด็นสุขภาพ’ เป็นหัวใจหลัก

คณะกรรมาธิการจาก Rockefeller Foundation และ Boston University ด้านปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ข้อมูล และการตัดสินใจ (The Commission on Health Determinants, Data, and Decision-Making: 3-D Commission) เสนอหลักการที่พัฒนามาเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจโดยใช้แนวทางขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven) บนพื้นฐานของปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health (SDoH) – based) และส่งเสริมความต้องการในการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ

หลักการสำคัญ 6 ประการ เพื่อสร้างโลกที่มีสุขภาพดีขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) ครั้งที่ 76 (UNGA76) ที่ทำการสำรวจตัวขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประชาชน ไม่เพียงแต่ระบบสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรูปแบบทางสังคมต่าง ๆ เช่น การเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ และให้เห็นว่าข้อมูลปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพสามารถบูรณาการเข้ากับกระบวนการตัดสินใจของทุกภาคส่วนได้อย่างไร

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด

หลักการของ 3-D Commission ทั้ง 6 ประการ ได้แก่

  1. การตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) เพื่อส่งเสริมสังคมที่มีสุขภาพดี ต้องก้าวไปไกลกว่าการดูแลสุขภาพและรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดสุขภาพที่ครอบคลุมมิติที่กว้างขึ้น
  2. การตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนทั้งหมดในทุกภาคส่วนจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นสุขภาพเข้าไปด้วย
  3. กระบวนการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจะต้องยอมรับและสนับสนุน ‘ความเสมอภาคทางสุขภาพ’ (health equity) และรับทราบถึงผลของการแลกเปลี่ยนทางเลือก (trade-offs) ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างต้นทุนและผลได้ (costs and benefits) ระยะสั้นและระยะยาว
  4. ทรัพยากรข้อมูลปัจจัยกำหนดสุขภาพที่พร้อมใช้งานทั้งหมดต้องถูกนำมาประกอบกระบวนการตัดสินใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ
  5. ข้อมูลปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพควรมีส่วนช่วยให้มีการกำกับดูแลที่ดึขึ้น โปร่งใสขึ้น และมีความรับผิดรับชอบมากขึ้น
  6. กระบวนการตัดสินใจโดยอาศัยหลักฐานสนับสนุนเพื่อส่งเสริมสังคมที่มีสุขภาพดีจำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมและครอบคลุมมุมมองที่หลากหลายมากมาย

ทั้งนี้ 3-D Commission ยังได้เสนอ 4 กลยุทธ์ที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับกระบวนการตัดสินใจโดยใช้แนวทางขับเคลื่อนด้วยข้อมูลบนพื้นฐานของปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่ (1) การรวบรวมและจัดการให้มีข้อมูลปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่มีคุณภาพ ตอบสนองตามเวลาจริง ได้อย่างเป็นระบบ (2) การมีระบบรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่โปร่งใส และใช้ข้อมูลเหล่านั้นในกระบวนการตัดสินใจ (3) การมีกระบวนการติดตามการตัดสินใจเรื่องสุขภาพโดยอาศัยข้อมูลให้เป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ และ (4) การมีส่วนร่วมของชุมชนในการรวบรวมและเข้าถึงข้อมูล

เข้าถึงรายงาน Data, social determinants, and better decision-making for health โดย 3-D Commission

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลา และเชื่อถือได้ ที่จำแนกในเรื่องรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความบกพร่องทางร่างกาย ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563
-  (17.19) ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนาการตรวจวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถด้านสถิติในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2573

ที่มา : Six key principles for using data to shape a healthier world (WEForum)

Last Updated on พฤศจิกายน 17, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น