ความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนด้วยโปรตีนจากเซลล์พืช อาจทำให้ในอนาคตมีวัคซีนที่บริโภคได้มากขึ้น

บทความ Plant-made vaccines and therapeutics ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เขียนโดย Hugues Fausther-Bovendo และ Gary Kobinger กล่าวว่า ความก้าวหน้าในการพัฒนาและทดสอบวัคซีนที่ผลิตจากพืชล่าสุด ได้ฟื้นความสนใจในเภสัชภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากพืช เช่น วัคซีนที่รับประทานได้เพื่อใช้ในคน

โปรตีนเพื่อการรักษา (therapeutic protein) เพื่อการผลิตยารักษาโรค เช่น แอนติบอดี ฮอร์โมน ไซโตไคน์ โดยทั่วไปจะผลิตขึ้นในแบคทีเรียหรือเซลล์ยูคาริโอต เช่น ในไข่ไก่และในการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือเซลล์แมลง ผู้เขียนแนะนำว่า การใช้พืชเพื่อผลิตโปรตีนเพื่อการรักษาอาจเป็นวิธีทางเลือกที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และมีโอกาสเป็นแหล่งปนเปื้อนน้อยกว่า

เมื่อปี 2012 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) ได้รับรองยา Elelyso ที่ใช้รักษาโรค Gaucher จึงกลายเป็นยารักษาโรคชนิดแรกที่มีโปรตีนที่ได้จากพืช (แครอท) ในการผลิต ผู้เขียนกล่าวถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนที่มีส่วนประกอบจากพืชอื่น ๆ ในช่วงเวลาไม่นานนี้ ทั้ง วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จากพืชซึ่งเสร็จสิ้นการทดลองในระยะที่ 3 ไปเมื่อปี 2019 และได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และวัคซีนที่ผลิตจากพืชเพื่อต่อสู้กับไวรัส SARS-CoV-2 (สาเหตุโรคโควิด-19) ที่เรียกว่า CoVLP ก็ได้เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 ในปี 2021 นี้ ความก้าวหน้าเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมการผลิตวัคซีนให้สามารถบริโภคได้

Fausther-Bovendo และ Kobinger ได้ย้ำถึงข้อดีของโปรตีนจากพืชเพื่อการพัฒนาวัคซีนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งของส่วนประกอบพืชที่มีอนุภาคคล้ายไวรัสในวัคซีนสามารถสร้างขึ้นได้เอง จึงอาจลดความจำเป็นในการเพิ่มสารเสริมฤทธิ์ (adjuvants) ในวัคซีนได้ 

ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาขึ้น วัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนพืชอาจสามารถจะใช้วิธีการบริโภคได้และสามารถสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนที่บริโภคได้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่แค่ในระยะเริ่มต้น (preclinical) ของการพัฒนาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตวัคซีนด้วยโปรตีนพืชมากขึ้น เนื่องจากต้องได้รับยาในจำนวนโดสที่มากกว่าเพื่อการใช้รักษาโรค

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก
- (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ

ที่มา : Advances in plant-made vaccines revive interest in plant-produced pharmaceuticals and edible drugs (News-Medical)
Advances in technology and manufacturing to promote plant-produced therapeutics uptake (European Pharmaceutical Review)

Last Updated on สิงหาคม 20, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น