เมื่อผู้หญิงทำให้สันติภาพยั่งยืนขึ้น: ‘womenmediators.org’ ครั้งแรกที่คุณสามารถค้นหาผู้หญิงที่มีบทบาทสร้างสันติภาพและความมั่นคง

‘Sustainable peace cannot achieve without women’

ตั้งแต่ปี 2535 – 2562 ในงานด้านความมั่นคงและสันติภาพที่มีผู้ชายครองบทบาทเป็นหลัก มีผู้หญิงที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediators) 6% และนักเจรจา (negotiators) 13% เท่านั้น แม้จะมีการศึกษาที่ชี้ความสำคัญของผู้หญิงกับการเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงบทบาทในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพที่จะทำให้สันติภาพนั้นยั่งยืนขึ้นและมีเสถียรภาพยาวนานขึ้น ทว่าที่ผ่านมาการที่ไม่มีหรือมีผู้หญิงในกระบวนการสร้างสันติภาพที่จำกัด ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่มีศักยภาพ แต่เพราะไม่มีโอกาสหรือช่องทางให้ได้แสดงศักยภาพเหล่านั้นต่างหาก

ทั้งที่ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 ได้ระบุถึงบทบาทของผู้หญิงในงานความมั่นคงและสันติภาพในการ ‘ป้องกันและยุติความขัดแย้ง การเจรจาเพื่อสันติภาพ การสร้างสันติภาพ การรักษาสันติภาพ การตอบสนองด้านมนุษยธรรม รวมไปถึงการสร้างใหม่ (reconstruction) หลังความขัดแย้ง’ เพราะผู้หญิงสามารถพัฒนาให้มีความมั่นคงในระดับชาติและระหว่างประเทศได้

เครือข่าย ‘Women Mediators across the Commonwealth (WMC)’ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 จึงได้เปิดตัวแพลตฟอร์มฐานข้อมูลออนไลน์ครั้งแรก (https://www.womenmediators.org/) เชื่อมต่อผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายด้าน ‘การไกล่เกลี่ยและการเจรจา’ และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้งในระดับชุมชน ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ให้เกิดการสนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน และให้ UN รัฐบาล รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามา ‘สืบค้น’ หาผู้หญิงที่มีทักษะและประสบการณ์ได้อย่างเจาะจง เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความสามารถและมีบทบาทเป็นอย่างมากในวงการนี้

เข้าถึงได้ที่ https://www.womenmediators.org/

โดยในเว็บไซต์สามารถค้นหา (และติดต่อ) ผู้หญิงนักไกล่เกลี่ย นักเจรจา และนักสร้างสันติภาพ จากการคัดกรองตามภูมิภาค ภาษาที่ใช้สื่อสาร ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ อาทิ ความรู้ในด้านสันติภาพและความมั่นคง การปกครองตนเอง ความยุติธรรมสมานฉันท์ การจัดการที่ดินและทรัพยากร กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากความแตกต่างทางเพศ การหยุดยิง การเลือกตั้งและการลงประชามติ และประสบการณ์ในด้านการทำงานกับชนพื้นเมือง คนพลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย ผู้ที่เดินทางกลับจากการสู้รบ (returnees) การทำงานกับกองกำลังติดอาวุธ การปฏิบัติตาม P/CVE (การป้องกันและต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง) การทำงานกับเยาวชนที่เข้าไปพัวพันกับกลุ่มที่นิยมความรุนแรง การแทรกแซงเพื่อป้องกันความรุนแรง เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
เป้าประสงค์ที่ 5.5 กล่าวถึงหลักประกันของการที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
#SDG16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ
เป้าประสงค์ที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เป้าประสงค์ที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งอ้างอิง:
https://reliefweb.int/report/world/new-platform-puts-women-forefront-peacemaking
https://www.un.org/womenwatch/osagi/wps/

#SDGWatch #ihpp #SDG5 #SDG16

Last Updated on มีนาคม 11, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น