ทบทวนทิศทางการขับเคลื่อน SDGs – ผ่าน 6 บทความ จากนักวิชาการรุ่นใหม่ ในหนังสือ “นโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม” 

SDG Recommends ฉบับนี้ ขอเชิญชวนอ่าน หนังสือ เรื่อง “นโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม” (Public Policy for Just Sustainable Futures) เนื่องจากยุคปัจจุบัน เรากำลังเผชิญวิกฤติเชิงซ้อน ด้วยสภาวะดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวขององคาพยพในการเชื่อมโยงพรมแดนของนโยบายสาธารณะ เพื่อปรับทิศเปลี่ยนทางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะไทยในปัจจุบัน

ขอชวนผู้อ่านทุกคนมาร่วมกันทบทวนมุมมองการสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นธรรมผ่านนโยบายสาธารณะ ผ่าน 6 บทความที่ถูกเรียบเรียงมาจากเวทีเสวนาระหว่างนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะรุ่นใหม่ในเครือข่าย Thailand Public Policy Network (TPPN) จัดพิมพ์โดยสถาบัันนโยบายสาธารณะ มหาวิิทยาลัยเชียงใหม ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากบทความของนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะรุ่นใหม่ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

  1.  “Critical Reflection ต่อ SDGs แบบไทย ๆ: อารมณ์ความรู้สึก การมองเห็น และความทรงจำกับนโยบาย SDGs ของประเทศไทย” โดย วศิน ปั้นทอง – ได้นิยาม “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ไม่มีหัวใจเท่าใดนัก จากการลดทอนคุณค่าของความยั่งยืนมาเป็นเรื่องของการจัดการนิยมแบบเสรี (Neo-liberal managerialism) และการพัฒนานิยมแบบอุดมคติ (Idealistic developmentalism) รวมถึงอธิบาย ขอบเขตของการมองเห็น จินตภาพ และจินตนาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ที่ยังไม่อาจหลุดไปจากระบบทุนนิยม แต่ความพยายามในการขับเคลื่อน SDGs เพื่ออย่างน้อยที่สุดความยั่งยืนก็เป็นภารกิจที่ร่วมกันทำควบคู่ไปกับความเป็นธรรม
  2. “ไปให้ไกลกว่า SDGs แบบไทย ๆ: สังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยสำหรับการพัฒนาอนาคตที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม” โดย ปิยะพงษ์ บุษบงก์ – เน้นย้ำถึงนโยบายสาธารณะ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องเอาความเป็นธรรมมาก่อนหรือกำกับเสมอ เพื่อให้เห็นเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างและระบบมากขึ้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการ มีสังคมเป็นศูนย์กลางมองเห็นความเชื่อมโยง และเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้มากกว่าการค้นหา best practice 
  3. “ถกคิดเรื่องความยั่งยืนในนโยบายสาธารณะและประชาสังคม: เราจะสร้างการอภิบาลเพื่อความยั่งยืนได้อย่างไร?” โดย ธีรพัฒน์ อังศุชวาล – อธิบายถึง นโยบายเพื่อความยั่งยืนของไทยต้องเป็นอภินโยบาย (Meta-policy) ที่ขับเคลื่อนเป็นนโยบายซึ่งเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจะส่งผลกระทบต่อวิธีการที่รัฐทำงานและดำเนินนโยบายสาธารณะในภาพรวม
  4. “การพัฒนานโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม ผ่านการต่อยอดทุนวัฒนธรรมของพื้นที่” โดย สิริวิท อิสโร – อธิบายถึง การต่อยอดทุนวัฒนธรรมของพื้นที่และชี้ให้เห็นว่าทุนดังกล่าวยังถูกจำกัดอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมแบบชาตินิยมมากกว่า จะส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย 
  5. “การประกันคุณภาพอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน?” โดย วรุตม์ อิงคถาวรวงศ์ – อธิบายถึง การสร้างทุนมนุษย์ผ่านการส่งเสริมการศึกษาโดยอิงตัวชี้วัดเต็มไปหมด (KPIism) และชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือดังกล่าวแทนที่จะสร้างความยั่งยืนกลับนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น
  6. “ยกระดับกลไกการบริหารจัดการภาครัฐผ่านการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในไทย” โดย ศิริพร จันทนสกุลวงศ์ – อธิบายถึง การยกระดับกลไกการบริหารจัดการระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการนำแนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) มาขยายผลในประเทศ โดยประชาชนมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอและจัดลำดับความสำคัญ

หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่ทบทวนและพิจารณาความก้าวหน้าของนโยบายสาธารณะ แต่เป็นการร่วมถกสนทนา เพื่อร่วมหาหมุดหมายและทิศทางที่สำคัญ เพื่อเป็นก้าวแรกในการจฉุกคิดถึงอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน ภายใต้วิกฤติที่หลากหลายของสังคมที่เรากำลังเผชิญ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ทำไมนโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืน 
SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา 
SDG Updates | เปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565” เจาะลึกข้อมูลสถานการณ์ SDGs ภายใต้มุมมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของประเทศไทย
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: บทวิเคราะห์และข้อเสนอเชิงนโยบาย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: นโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม (Public Policy for Just Sustainable Futures) – SPP CMU

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น