อุบัติเหตุบนท้องถนนในอินเดีย คร่าชีวิตผู้ชายมากกว่า แต่ภาระในครัวเรือนและความยากจนตกอยู่กับผู้หญิง

ทั่วโลกผู้ชายอายุต่ำกว่า 25 ปีมีโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าผู้หญิงถึง 2.7 เท่า แต่ในประเทศอินเดีย ความต่างของตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจราจรของผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงถึง 6.2 เท่า

ความแตกต่างระหว่างเพศของจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ใช้และรูปแบบการเดินทาง เพราะผู้ชายในประเทศกำลังพัฒนาเดินทางมากกว่าผู้หญิง ทำให้ต้องเผชิญความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า แต่รูปแบบการเดินทางนี้สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดของผู้หญิงอินเดียในการเดินทางและเข้าถึงโอกาสต่างๆ ผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกจากระบบสังคมและเศรษฐกิจโดยผู้หญิงอินเดียมีอัตราการมีงานทำเพียง 27% เท่านั้น นั่นแปลว่าผู้หญิงจะเดินทางน้อยกว่าและระยะทางสั้นกว่าผู้ชายทำให้ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตบนท้องถนนลดลง

แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การศึกษาพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่าผู้ชายจากอุบัติเหตุที่ความรุนแรงใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ผู้หญิงยังไม่ได้รับการดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุที่เหมาะสม อาจะเพราะไม่มีประกันสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่พอเพียงสำหรับการรักษาและดูแลตัวเองในระยะยาว

รายงานของ World Bank เมื่อเร็วๆ นี้ ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงจะต้องแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมักต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่ม หรือต้องเป็นคนรับหน้าที่เป็นผู้ให้การดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วยหรือพิการ

เนื่องจากผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ และพึ่งพาการเงินจากสามี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะตกอยู่ในความยากจนหากฝ่ายชายเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถทำงานได้หลังเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในชนบท

นอกจากนี้ อัตราการรู้หนังสือต่ำของผู้หญิงอินเดียทำให้ผู้หญิงไม่รู้ข้อมูลหรือเป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์และค่าชดเชยจากประกันไดั

ในขณะที่การใช้ยานยนต์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายอย่างที่สามารถช่วยลดภาระจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสำหรับชาวอินเดียโดยทั่วไป และสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ:

  • เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ด้วยถนนที่ปลอดภัยขึ้น การควบคุมความเร็ว และยานพาหนะที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
  • อัปเกรดระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัยและวางใจได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงานและบริการมากขึ้น ดังนั้น การออกแบบระบบขนส่งสาธารณะจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิง โดยโฟกัสพิเศษที่การใช้งาน และความปลอดภัยของผู้ใช้
  • ขยายการเข้าถึงโครงการประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุของรัฐ โดยเฉพาะเพื่อผู้หญิงที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้
  • สนับสนุนระบบผู้ให้การดูแลที่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือหรือรัฐช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของผู้ให้การดูแลหากต้องมาดูแลสมาชิกในครอบครัว
  • ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและความช่วยเหลือทางกฎหมายฟรี (โดยจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน) แก่ผู้ประสบภัยเพื่อการขอรับเงินชดเชย
อุบัติเหตุบนท้องถนน ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และทำให้ผู้หญิงรับภาระเพิ่มขึ้น เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าประสงค์ 3.6  ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030, เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน, และ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน

ที่มา: https://blogs.worldbank.org/endpovertyinsouthasia/road-crashes-affect-women-and-men-differently-heres-why?
https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2021/02/13/road-crashes-in-india-increase-household-poverty-and-debt

Last Updated on มีนาคม 12, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น