เอเชียแปซิฟิกจะฟื้นคืนจากโรคระบาด เมื่อมีนโยบายที่ประสาน ‘สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม’

เมื่อวันที่ 23- 26 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) จัดการประชุมหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 8 (Asia-Pacific Forum on Sustainable Development: APFSD) ในธีม ‘การฟื้นฟูอย่างมีภูมิคุ้มกันและยั่งยืนจากการระบาดของโควิด-19 ในเอเชียแฟซิฟิก’ (Sustainable and resilient recovery from the COVID-19 pandemic in Asia and the Pacific)

โดยได้มีการติดตามการดำเนินการ การแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และบทเรียนที่ผ่านมาตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงแนวโน้มในภูมิภาค โอกาสที่จะเสริมความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ไปจนถึงว่าจะสามารถเร่งการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก (transformation) ให้บรรลุตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมกับที่ต้องเร่งฟื้นฟูจากโรคระบาดได้อย่างไร

APFSD ได้มีการทบทวน ‘เชิงลึก’ ในเป้าหมาย #SDG1 การยุติความยากจน #SDG2 การยุติความหิวโหย #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี #SDG8 งานที่ดีสำหรับทุกคน #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ #SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน #SDG13 การลงมือจัดการ Climate Change #SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และ #SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการหารือประเด็นอื่น ๆ อาทิ การต่อสู้กับมลพิษประเภทต่าง ๆ และการให้ผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งสำหรับเอเชียแปซิฟิก การจัดการ #SDG1 ยุติความยากจนนั้นมีความก้าวหน้ามาก แต่การให้ความคุ้มครองทางสังคมยังไม่เพียงพอเช่นเดียวกับการจัดการที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ โดยมีการเรียกร้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การศึกษาและการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ การดำเนินการที่เกี่ยวกับการค้า-การเก็บภาษี-เทคโนโลยีที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มกำลังของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองและเศรษฐกิจ การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ตลอดจนเร่งดำเนินการกับประเด็นที่มีการลดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะต่อกลุ่มประชาชนชายขอบและเปราะบาง

‘เอเชียแปซิฟิกจะฟื้นคืนจากโรคระบาดได้ ต้องมีนโยบายที่ประสาน สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม’

– Amina Mohammed, รองเลขาธิการ UN

ขณะที่กุญแจสำคัญในการฟื้นฟูจากโรคระบาดคือการมีเงินทุนที่เพียงพอ การลงทุนที่สำคัญในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสูงสุด ไปพร้อมกับการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สนับสนุนให้เตรียมการนำเสนอรายงานทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) สำหรับการประชุม HLPF ประจำปี 2021 ด้วย

การประชุม APFSD  เป็นการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลและผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาในระดับภูมิภาคเป็นประจำทุกปี และเป็นการประชุมเตรียมพร้อมก่อนการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF)

สามารถติดตามการประชุมย้อนหลังได้ที่: https://unescap.org/apfsd/8 และกดที่ PROGRAMME

แหล่งอ้างอิง:
https://news.un.org/en/story/2021/03/1088052
https://unescap.org/apfsd/8

Last Updated on มีนาคม 26, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น