จดหมายถึงประธานที่ประชุม UN COP26 ร้องให้ปรับงบจัดการกับ climate change ที่ตระหนักถึงเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์

องค์กรไม่แสวงผลกำไรกว่า 60 แห่ง ส่งจดหมายต่อ Alok Sharma รัฐมนตรีของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (Minister of State at the Cabinet Office) ซึ่งเป็นประธานที่ประชุม UN COP 26 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปลี่ยนกฎเกณฑ์ความเหมาะสมของการใช้จ่ายงบประมาณ 11 พันล้านปอนด์สำหรับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ให้นับรวมถึงโครงการที่ขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการศึกษาของเด็กหญิง กล่าวคือ ให้ปรับงบประมาณที่รวมประเด็นการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดด้วย

โดยเฉพาะที่ประชาชนคนด่านหน้าในประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่เผชิญและได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศมากที่สุด การเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์นั้น ก็เพื่อให้สามารถวางแผนและตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ หรือจะมีลูกเมื่อไร ในวิกฤติสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ที่จะต้องเน้นสร้างขีดความสามารถของคนให้พร้อมจัดการและรับมือ

ทั้งนี้ การปรับงบประมาณดังกล่าวยังจะเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญและสัมพันธ์ระหว่างเพศ/การวางแผนครอบครัว/อนามัยเจริญพันธุ์ กับ การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย


ปัจจุบันงบประมาณหลายพันล้านถูกปันส่วนไปกับงบประมาณเพื่อจัดการกับสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกันนี้เราได้ยินเสียงที่ดังและชัดเจนจากชุมชน ผู้หญิง และผู้คนที่เรา (NGOs) ทำงานร่วมด้วยได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจริง ๆ คือการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ หรือจะมีลูกเมื่อไร… และในยามนี้เราต้องการแนวทางที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะบูรณาการการพัฒนาเข้ากับโครงการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

รายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme – UNEP) ต้นปีที่ผ่านมาได้กล่าวถึงประเด็นการลงทุนใน ‘การวางแผนครอบครัวโดยมีชุมชนเป็นฐาน’ (community-based family planning) โดยมองว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยจัดการกับประเด็นสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤติด้านมลพิษต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทในการปรับตัวของชุมชนด้วย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ได้แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เราต้องการสำหรับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน คือความสามารถที่จะควบคุมอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วย่อมจะเข้าใจความสำคัญของการเข้าถึงบริการสุขภาพอันหมายรวมถึงอนามัยเจริญพันธุ์ได้มากกว่าผู้ที่อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบ

ยกตัวอย่างเช่นกรณีการศึกษาในอูกันดา การที่ผู้หญิงมีการศึกษาและสามารถเข้าถึงบริการสนับสนุนในการวางแผนครอบครัว จะช่วยให้มีลูกน้อยลง และลูกที่มีมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความเข้าใจและการศึกษาที่ดี ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่ที่จำนวนประชากรจะไม่ไปเพิ่มแรงกดดันต่อที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม และการที่สามารถวางแผน/ควบคุม/ตัดสินใจเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ได้ ทำให้มีแรงที่จะทุ่มเทในการจัดการกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิต้านทานที่จะรับมือ

ทั้งนี้ ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา (Foreign, Commonwealth, and Development Office) ก็ได้เน้นย้ำถึงในความนี้เช่นกัน โดยยืนยันว่าทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะทำให้มั่นใจว่างบประมาณสำหรับการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศนั้น จะตอบสนองต่อประเด็นทางเพศ ซึ่งรวมถึงการวางแผนครอบครัวและการศึกษาของเด็กหญิง โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะใช้เวที COP 26 ในฐานะที่เป็นประธาน เรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นเพศ/การวางแผนครอบครัว/อนามัยเจริญพันธุ์ กับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
การตระหนักถึงปัญหา Climate Change และอนาคตที่ไม่แน่นอน ทำให้คนหนุ่มสาวอาจตัดสินใจเลือกที่จะไม่มีลูกมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.7) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการ ข้อมูล การให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัว และวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
-(5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
#SDG13 การจัดการ/รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
-(13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

แหล่งที่มา:
‘Use your £11bn climate fund to pay for family planning,’ UK told (the guardian)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น