‘กองทุนระดับโลกเพื่อการคุ้มครองทางสังคม’ ช่วยเหลือการเงินให้ประเทศยากจนมีระบบคุ้มครอง-ประกันสังคมที่ใช้การได้ระยะยาว

ภายในปี 2564 นี้ คาดว่าในที่ประชุม G20 ของบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ-ที่ร่ำรวย และที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council – UNHRC) จะมีการหารือความเป็นไปได้ที่จะก่อตั้ง ‘กองทุนระดับโลกเพื่อการคุ้มครองทางสังคม’ (Global Fund for Social Protection) ต่อเนื่องจากเวที ‘การประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านการก่อตั้งกองทุนระดับโลก – การคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคน’ (High-Level Expert Meeting on the Establishment of a Global Fund – Social Protection for All) เมื่อท้ายปี 2563 ให้เป็นสถาบันนานาชาติที่ช่วยเหลือทางการเงิน-บริจาคเงินให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำสามารถพัฒนาความสามารถ ‘ระยะยาว’ ระดมทรัพยากรและสนับสนุนทางการเงินเพื่อการคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำ (minimum) สำหรับประชาชน อาทิ รายได้ขั้นต่ำ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนและป้องกันความยากจนขั้นรุนแรงภายในประเทศ

ซึ่งประเด็นของกองทุนดังกล่าวกำลังเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกพูดคุยกันมากขึ้นตั้งแต่ที่เผชิญกับโควิด-19 เป็นต้นมา เนื่องจากการที่หลาย ๆ ประเทศตกที่นั่งลำบากในห้วงของโรคระบาด การคุ้มครองทางสังคมและระบบประกันสังคมนั้นจึงมีความสำคัญมาก

ทั้งนี้ แต่ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยชี้แจงว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลก (5.2 พันล้านคน) ยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานได้ และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมมีการหารือพร้อมกับนำเสนอข้อเสนอนี้ โดยมีทั้งว่าควรจะให้เป็นกองทุนที่สอดคล้องกับ ILO Social Protection Floors Recommendation ที่เน้นการให้ความคุ้มครองที่เป็นสากลและวิธีการที่มี ‘สิทธิ’ เป็นศูนย์กลาง (rights-based approach) หรือสอดคล้องกับ Global Partnership for Effective Development Co-operation (GPEDC) ที่ยืนหยัดหลักการประเทศเป็นเจ้าของ (country-ownership) หุ้นส่วนที่ครอบคลุม ความโปร่งใส รับผิดรับชอบ และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม รวมทั้งอีกหลาย ๆ ข้อเสนอว่าให้ทำควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) หรือ Universal Social Protection 2030 Partnership (USP 2030) และเชื่อมโยงกับงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเด็นด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานด้วย

จนกระทั่งเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลฝรั่งเศสร่วมกับผู้รายงานพิเศษ UN ด้านความยากจนขั้นรุนแรงและสิทธิมนุษยชนได้มีการพูดคุยถึงข้อเสนอต่าง ๆ ที่จะจัดให้มีกองทุนฯ ในเวที ‘การประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านการก่อตั้งกองทุนระดับโลก – การคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคน’ (High-Level Expert Meeting on the Establishment of a Global Fund – Social Protection for All) และคาดว่าจะมีการหารือกันต่อในที่ประชุม G20 และที่ประชุม UNHRC ภายในปีนี้ 2564 แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการก่อตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นหรือไม่

ปัจจุบัน ยังมีองค์การภาคประชาสังคมนานาชาติในชื่อ ‘Global Coalition for Social Protection Floors’ (GCSPF) เสนอให้ ‘ร่วม’ ช่วยเหลือทางการเงิน (co-finance) ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับประเทศที่ประสบปัญหารายได้จากการเก็บภาษี กับประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ อาทิ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือวิกฤติเศรษฐกิจ ที่อาจไม่มีเงินเพียงพอจะสนับสนุนระบบคุ้มครองทางสังคม

ซึ่งนอกเหนือไปจากเรื่องของการมีเงินและเสถียรภาพของกองทุนแล้ว ประเด็นที่อยู่ในการพูดคุยคือ รัฐบาลกับการปรับปรุงการกระจายทรัพยากรภายในประเทศให้ดีขึ้น อาทิ การจัดสรรทรัพยากรผ่านงบประมาณทางการคลังและระบบประกันสังคม ให้มั่นใจว่าจะมีเงินที่หมุนเวียนและเป็นระบบประกันสังคมที่ใช้การได้ (functional) รวมทั้งกลไกการให้ความคุ้มครองควรทำงานได้ระยะยาว และให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ (international aid) เป็นทางออกในบางคราวเท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 (1.3) ระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG17 (17.1) ระดมทรัพยากรภายในประเทศ การสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนาในการเก็บภาษีและรายได้ของรัฐ (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมไปยังประเทศกำลังพัฒนา (17.16) หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก ซึ่งรวมถึงการแบ่งปันทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อสนับสนุน SDGs โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
https://www.dandc.eu/en/article/global-fund-social-protection-help-low-income-countries-finance-basic-social-security

Last Updated on เมษายน 27, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น