‘ไม่ขยับ ไม่ออกกำลังกาย’ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น ภาวะสมองเสื่อมและความดันโลหิตสูง

งานวิจัยตีพิมพ์บน British Journal of Sports Medicine พบว่าผลกระทบด้านสุขภาพจากการไม่มีกิจกรรมทางกาย (physical inactivity) เป็นปัญหาระดับโลกอย่างแท้จริง โดยการไม่มีกิจกรรมทางกายเป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCD) ถึง 8% ทั่วโลก

เป็นที่ทราบกันว่าการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการเป็นโรคไม่ติดต่อหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมะเร็งหลายชนิด ทั้งยังเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงอีก 1.6% และภาวะสมองเสื่อมอีก 8.1%

การไม่มีกิจกรรมทางกาย หมายถึง การมีการออกกำลังกายที่ความเข้มข้นปานกลาง (moderate-intensity) น้อยกว่า 150 นาที/สัปดาห์ หรือการมีการออกกำลังกายที่ความเข้มข้นระดับหนัก (vigorous-intensity) น้อยกว่า 75 นาที/สัปดาห์

จากข้อมูลที่รวบรวมจาก 168 ประเทศ ในปี 2016 พบว่า ระดับการไม่มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ของประเทศ ซึ่งระดับการไม่มีกิจกรรมทางกายในประเทศรายได้สูงอาจจะสูงกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำ ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า แม้ว่าภาระด้านสุขภาพจากการไม่ออกกำลังกายต่อคนโดยเฉลี่ยในประเทศที่มีรายได้สูงจะสูงกว่า แต่กลับเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบโดยรวมหนักกว่าเพราะมีจำนวนประชากรมากกว่า

การเคลื่อนไหวทางกายที่ลดลงหรือไม่มีเลย นั้นอาจเป็นผลมาจากจำนวยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้คนเข้าถึงได้ เช่น การมีรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้การใช้งานขนส่งสาธารณะ การเดินทางที่ใช้กำลัง เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ลดลง

งานประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ในปี 2018 ได้กำหนดเป้าหมายในการลดระดับการไม่มีกิจกรรมทางกายในระดับโลกให้ได้ 15% ภายในปี 2030

“ภาระด้านสุขภาพทั่วโลกที่สัมพันธ์กับการไม่มีกิจกรรมทางกายเป็นเรื่องใหญ่” ผู้เขียนบทความสรุป “ภาระด้านสาธารณสุขที่สัมพันธ์กับการไม่มีกิจกรรมทางกายเป็นปัญหาระดับโลกอย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขนี้ได้”

โรคไม่ติดต่อ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย ในเป้าประสงค์ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2030

ที่มา: News Medical

Last Updated on เมษายน 1, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น