โครงสร้างพื้นฐานและสายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างเสมอภาค

ปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมมีหลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย และเมื่อการบริการสุขภาพได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น จึงได้เกิดข้อคำถามว่า ‘การแบ่งแยกทางดิจิทัล’ (digital divide) ที่ผู้คนอาจมีศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลไม่เท่ากันนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี และความเสมอภาคทางสุขภาพ (ที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรองรับ) หรือไม่ อย่างไร

กล่าวคือ ผู้คนสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ การนัดพบแพทย์ทางออนไลน์และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางไกล (telehealth) กันได้ถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมกันทุกคนหรือไม่ ตามความเข้าใจเดิมอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของ ‘อายุ’ ของกลุ่มประชากรระหว่างผู้สูงวัยกับคนหนุ่มสาว ทว่าก็เสมอไป เพราะนอกเหนือจากความกระตือรือร้นของคนไข้ทุกช่วงวัยที่จะอยากลองใช้บริการสาธารณสุขทางไกลแล้ว ประเด็นเรื่อง ‘การมีรายได้น้อย’ และ ‘การไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นรองรับ’มักเป็นอุปสรรคสำคัญมากกว่า

การศึกษาในบริบทของสหรัฐฯ ชี้ว่าแม้การบริการทางสาธารณสุขทางไกลจะสามารถเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ก็ยังคงมีความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการที่บางกลุ่มประชากรไม่สามารถเข้ารับได้ตามความต้องการ ด้วยเหตุแห่งและสภาพความเป็นอยู่ที่มาพร้อมกับความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว รวมถึง ‘อุปสรรคทางภาษา’ ซึ่งกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้มักเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพย่ำแย่และต้องการรับบริการสุขภาพด่วนที่สุด ขณะที่ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่ายังมีคนใช้บริการสาธารณสุขทางไกล ‘ไม่มากพอนัก’

หน่วยงานด้านสาธารณสุขและอินเตอร์เน็ตของสหรัฐฯ ได้ระบุว่าในโจทย์ของการแบ่งแยกทางดิจิทัลในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จะต้องสำรวจปัญหาที่กลุ่มประชากรเผชิญ ได้แก่ ‘อุปกรณ์และสายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต’ และ ‘ความรู้ในเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้’ เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม

เพราะสายบรอดแบนด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอินเตอร์เน็ตที่รองรับการใช้งาน จึงต้องจัดการประเด็นที่เกี่ยวกับคุณภาพอุปกรณ์ และราคา ซึ่งในแง่ของราคานั้นอาจจำเป็นต้องมีนโยบายภาครัฐเข้ามาสนับสนุนทำให้มีราคาถูกและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน สำหรับเรื่องความรู้ในเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ ก็จำต้องอาศัย  การศึกษาอย่างเป็นองค์รวมให้ทุกคนเข้าใจความจำเป็นและความสะดวกสบาย ตั้งแต่ว่าจะต้องติดตั้งอินเตอร์เน็ตยังไง และต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่สำคัญอีกประการคือการมี ‘digital navigators’ ที่เข้ามาเป็นตัวกลางช่วยอำนวยการระหว่างประชาชนกับการใช้บริการสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยที่คนไข้จะยังรู้สึกว่าได้รับการดูแลใส่ใจไม่ต่างจากเดิม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 หลักประกันว่าด้วยการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ครอบคลุม ยั่งยืน เท่าเทียม และเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
#SDG10 ลดความไม่เสมอภาค

แหล่งอ้างอิง:
https://patientengagementhit.com/news/is-the-digital-divide-the-newest-social-determinant-of-health

Last Updated on เมษายน 5, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น