SDG Insights | ‘ป่าในเมือง’ โครงสร้างพื้นฐาน ใหม่เพื่อสุขภาพของคนเมืองใหญ่

บทสัมภาษณ์ กนกวลี สุธีธร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นับแต่ที่สังคมไทยต้องเผชิญการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ความรุนแรงของมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นจิ๋ว pm 2.5 ที่รุนแรงขึ้นในทุกปี แนวคิดการออกแบบเมืองที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีถูกให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองที่คำนึงถึงพื้นที่สีเขียวเพื่อให้คนในเมืองได้เข้าใช้ประโยชน์หรือที่ในแวดวงนักสิ่งแวดล้อมเรียกกันว่า ‘ป่าในเมือง’ ซึ่งเป็นประเด็นหลักใน SDG 11 การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย และยั่งยืน และจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตาม SDG 3  

SDG Insights ฉบับนี้พูดคุยกับ ดร.กนกวลี สุธีธร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าป่าในเมืองคืออะไรไร เกี่ยวพันกับชีวิตของคนเมืองอย่างไร ตอนนี้สุขภาพพื้นที่สีเขียวของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง และหากเราอยากจะทำห้าป่าในเมืองเกิดขึ้นต้องทำอะไร

ป่าในเมืองคืออะไร?

ป่าในเมือง (urban forest) เป็นองค์ประกอบ ที่ว่าด้วยการจัดการต้นไม้ในเมืองทั้งแบบมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ การบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ของการจัดการต้นไม้ในเขตเมืองที่คำนึงถึงคุณลักษณะพื้นฐาน ปัจจัยด้านสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่อาศัย [Carter, 1995] โดยการจัดการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีต้นไม้ทั้งต้นไม้เดี่ยว กลุ่มของต้นไม้ หรือ ต้นไม้ที่อยู่ในอาณาบริเวณที่ประชากรอาศัยอยู่ในความหนาแน่นระดับหนึ่ง ครอบคลุมถึงอาณาบริเวณของถนน สวนสาธารณะ และบริเวณแยกต่างๆ ที่มีการจัดการต้นไม้ นอกจากนั้นการจัดการป่าไม้ในเขตเมืองยังครอบคลุมถึงเรื่องประโยชน์ของต้นไม้ในแง่มุมต่างๆ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้เหล่านั้น จุดมุ่งหมายหลักของการป่าไม้ในเมือง คือ การปรับปรุงสุขภาพของต้นไม้ให้มีความแข็งแรง และเพิ่มคุณค่าของต้นไม้และบริเวณโดยรอบเขตเมืองนั่นเอง

ถนน Rua de Carvalho Goncalo ในประเทศบราซิล
ภาพจาก progreencenter.org

ป่าในเมืองกับสุขภาพเกี่ยวข้องกันอย่างไร

มีงานวิจัยหลายงานในสาย Healthy city ที่ศึกษาประโยชน์ของต้นไม้ในมิติต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ริมถนนในเมืองทำให้การเกิดอาชญากรรมน้อยลง พิกัด ที่ตั้งบ้านของเราเป็นตัวกำหนดอายุขัยของคนที่อยู่อาศัยได้ถึงขนาดว่าบ้านเราอยู่รหัสไปรษณีย์ห่างกันอายุของคนย่านในอาจต่างกันเป็นสิบปีเลยก็ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโดยตรงจากสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ  ต้นไม้ที่ตายเพราะถูกแมลงระบาด ในช่วงสิบปีนั้นมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหายใจและโรคทางเดินหายใจเหล่านี้สะท้อนว่าเมื่อพื้นที่สีเขียวลดลง คนก็ตายไปด้วย เราอาจไม่เห็นในทันทีแต่เมื่อเวลายาวนานขึ้นผลดังกล่าวก็ยิ่งเกิดขึ้น

เราจึงสนใจว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมือง แล้วเราก็พบว่าคนในเมืองนั้นมีหลายกลุ่ม คนส่วนมากไม่มีได้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ได้มีเวลาว่างที่จะมาใส่ใจกับพื้นที่สีเขียวในเมือง แต่หากเราพูดถึงพื้นที่สีเขียวในอีกมิติหนึ่งว่ามันมีผลต่อสุขภาพของเรา เราอาจไม่เห็นมูลค่าของมันอย่างเป็นรูปธรรมในตอนแรก แต่เราจะเห็นว่าเมื่อเราเจ็บป่วยเราต้องเสียเงิน ดังนั้น การมีพื้นที่สีเขียวก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่เราต้องเสียเงินลงไปได้ ก็จะทำให้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น เพราะต้นไม้ไม่ได้มีผลทั้งสุขภาพทางกาย (Physical Health) เท่านั้นยังมีผลต่อสุขภาพจิต (Mental health) ความเบิกบาน ความมั่นคงทางจิตวิญญาณของผู้อยู่อาศัยด้วย ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยที่มีการศึกษาการฟื้นตัวของผู้ป่วยที่พักในห้องที่มองเห็นทิวทัศน์ต้นไม้ สนามหญ้า เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่พักในห้องทิวทัศน์ปิด มองเห็นกำแพง ตึกไม่เห็นต้นไม้ พบว่าผู้ป่วยที่มองเห็นพื้นที่สีเขียวจะฟื้นตัวเร็วกว่าผู้ป่วยที่มองออกไปแล้วเห็นตึกกำแพง

เมืองที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงพื้นที่สีเขียวมักมีลักษณะอย่างไรบ้าง

พื้นที่ดินจะถูกประเมินมูลค่าตามประโยชน์การใช้สอย เช่น หากนำไปทำคอนโดได้ก็จะมีมูลค่าสูง ขณะที่พื้นที่ที่เป็นพื้นที่การเกษตร ต้นไม้ไม่มีการลงทุนในเชิงพาณิชย์จะถูกตีความว่ามีมูลค่าน้อย ดังนั้นหากมีการเวนคืนพื้นที่ หรือปรับเปลี่ยนผังเมือง พื้นที่สีเขียวเหล่านี้จะถูกเวนคืนก่อนเป็นอันดับแรก ๆ ทำให้พื้นที่ป่าในเมืองลดลง สาเหตุสำคัญมาจากแนวคิดในการประเมินมูลค่าที่คำนึงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียวจนไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าด้านอื่นด้วยโดยเฉพาะมูลค่าทางนิเวศที่พื้นที่ตรงนั้นจะให้ได้ด้วย

มูลค่าทางนิเวศมีคนให้นิยามไว้หลายแบบ แต่อาจกล่าวแบบเข้าใจง่าย ๆ คือฟังก์ชั่นทางนิเวศว่ที่ประเมินว่าพื้นที่นั้นก่อให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้างที่ไม่ใช่การพัฒนาหรือทำสิ่งปลูกสร้าง เช่น การเป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นพื้นที่รับน้ำ ช่วยดักฝุ่นลด pm 2.5 แล้วนำประโยชน์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาตีเป็นตัวเลข ก็จะได้เป็นมูลค่าทางนิเวศ เพื่อใช้สื่อสารกับสังคมให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่าพื้นที่เหล่านี้มีมูลค่าเท่าใด และในหลายครั้งฟังก์ชั่นเหล่านี้ก็สำคัญไม่แพ้กับมูลค่าทางเศรษฐกิจเลย นั่นเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่นำมาสู่การทำงานวิจัยเรื่องการประเมินมูลค่าทางนิเวศของต้นไม้ในกรุงเทพมหานครแต่ละเขต เราวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศแล้วคำนวณว่าพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นั้นช่วยลด pm2.5 ได้เท่าใด ช่วยเก็บกักคาร์บอนได้มากเท่าใด เพื่อเสนอเป็นมูลค่าทางนิเวศของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครอย่างที่กำลังทำอยู่เราเจาะจงไปที่มูลค่าต้นไม้ในเมือง/ป่าในเมืองที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่  แน่นอนว่าพื้นที่สีเขียวไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่การลดมลภาวะทางอากาศเท่านั้น  แต่ยังช่วยชะลอน้ำฝนไม่ให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ช่วยลดอุณหภูมิของเมือง ช่วยทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นอีกด้วย

สถานการณ์พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร

จากการศึกษาวิเคราะห์จากภาพถ่ายทางอากาศเพื่อพิจารณาพื้นที่เป็นหลัก หลายเขตน่าเป็นห่วงเพราะต้นไม้น้อย พื้นดาดแข็งค่อนข้างเยอะ (พื้นลาดยาง พื้นอิฐ พื้นคอนกรีต พื้นหิน) เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่แต่ละเขตนำมาใช้กับการดูแลภูมิทัศน์ก็จะพบสถานการณ์ที่น่าเศร้าเพราะหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ในกรุงเทพมหานครคือ “ฝ่ายรักษาความสะอาด” ไม่ได้มีกองงานหรือหน่วยงานย่อยขึ้นมา ส่วนกรุงเทพมหานคร มีกองสวนที่ต้องดูแลต้นไม้กว่า 2 ล้านต้น มีบุคคลากรเพียงหยิบมือเดียวทำให้ดูแลไม่ทัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เรามักเห็นการตกแต่งอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ประณีตมากนัก นอกจากนี้เสียงสะท้อนจากคนทำงานยังพบว่าต้นไม้ในกรุงเทพฯ เผชิญปัญหาหลายแบบไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่หมดอายุ ต้นไม้ที่ปลูกไม่เหมาะกับปัจจุบัน บางต้นที่เสี่ยงจะโค่นล้มจำเป็นต้องโยกย้าย แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นนักเพราะยังไม่มีงบประมาณ มารองรับเพื่อจัดหาต้นไม้มาทดแทนต้นเดิม รวมถึงงบประมาณสำหรับโยกย้ายต้นไม้ที่ไม่สามารถเติบโตในบริเวณเดิมได้ เนื่องจากไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวสำหรับเรื่องนี้เอาไว้ 

 

ภาพจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับพื้นที่สีเขียวในเมืองพื้นที่ป่าในเมืองที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยทั้งการลดอาชญากรรม การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจการจับจ่ายใช้สอยที่มีงานวิจัยเคยศึกษาว่าย่านที่มีต้นไม้ร่มรื่นร้านค้าบริเวณนั้นจะขายของได้ดีกว่าย่านที่ไม่มีต้นไม้ ส่วนหนึ่งเพราะต้นไม้ทำให้เกิดสุนทรียะแก่คนในย่านนั้น ทว่าเราไม่ได้วางงบประมาณในเรื่องนี้เอาไว้เลย

การจะสร้างป่าในเมืองได้ต้องอาศัยอะไรบ้าง

พื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ในบริบทของเมือง บางประเทศใช้ป่าในเมืองในการปลูกเพื่อการพาณิชย์ หรือบางแห่งปลูกต้นไม้ตามแนวถนนแล้วสลับกันตัดต้นไม้เพื่อนำไปใช้สอยแบบนี้ก็มีอยู่เช่นกัน ส่วนในกรณีของกรุงเทพมหานคร การริเริ่มปลูกต้นไม้ยังเกิดขึ้นมาไม่นานนัก แผนการจัดการงบประมาณยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ปัญหาวนกลับมาที่การวางนโยบายพัฒนาสาธารณูปโภคต้องพิจารณาจากความคุ้มทุน ผู้ตัดสินใจทางนโยบายอาจมองไม่เห็นความคุ้มค่า หรือผลตอบแทนจากการการปลูกต้นไม้ที่เป็นรูปธรรมมากนักเป็นเหตุผลหนึ่งที่งานวิจัยของเราหันมาให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์มูลค่า ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากการมีพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น

พื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพเหมือนถูกสร้างมาเพื่อชนชั้นกลาง?

การจะอธิบายเรื่องนี้ได้อาจต้องเริ่มตั้งแต่การนิยามคำว่า “พื้นที่สีเขียว” หรือรูปแบบพื้นที่สาธารณะคือสวนถนน เกาะกางถนน พื้นที่นอกรอนุสาวรีย์ ซึ่งหากย้อนไปในอดีตหลายสิบปีก่อนทุกคนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่เหล่านี้ได้จริง หากมองแบบนี้ก็อาจสามารถกล่าวได้ว่าในการทำพื้นที่สีเขียว ณ ตอนนั้นก็ตั้งใจทำมาให้ทุกคนได้ใช้สอย แต่นิยามดังกล่าวถูกกำหนดมานานมากแล้ว ปัจจุบันรถบนท้องถนนหนาแน่นขึ้น คนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ได้อีกแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องมีการนิยามพื้นที่สีเขียวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของเมืองมากขึ้น

บรรยากาศการออกกำลังกายของชาวเมืองที่สวนลุมพินี
ภาพจาก https://minimore.com/b/fiPlk/1

ส่วนพื้นที่ที่เข้าไปใช้สอยได้อย่างสวนสาธารณะปัญหาอาจเกิดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบแล้วว่า เราออกแบบเพื่อใคร รูปแบบของพื้นที่ตรงนั้นถูกออกแบบให้เน้นความสวยงามเป็นหลัก แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ชุมชนที่อยู่โดยรอบว่าแท้จริงแล้วเข้าเป็นใคร เขามีความต้องการแบบไหน นอกจากนี้ลักษณะทางกายภาพก็อาจดูไม่เป็นมิตรทำให้คนบางกลุ่ม ไม่กล้าเข้ามาใช้ เช่น การออกแบบที่มีรั้วกั้นรอบขอบชิด ทำให้รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงในเชิงการจัดการเช่นบางพื้นที่กลุ่มคนเหล่านี้อาจถูกปิดกั้นโดยผู้ดูแลด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วยหรือไม่ จึงทำให้พื้นที่สีเขียวที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสวนสาธารณะกลายเป็นสาธารณูปโภคสำหรับชนชั้นกลาง หรือผู้มีรายได้เสียส่วนใหญ่  อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเข้ามาใช้สอยพื้นที่เหล่านี้ในแง่การพักผ่อนคือวิถีชีวิต เวลาที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาใช้พื้นที่ก็เป็นไปได้เช่นกัน

สวนมีหลายระดับ เช่น สวนลุมพินี สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะระดับเมืองมีขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีสวนสาธารณะขนาดเล็กในระดับย่าน ระดับชุมชน อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักแต่ก็เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เช่น สนามเด็กเล่น สวนในอาคารชุด ชุมชนแออัดที่มีรัศมีการให้บริการสำหรับชุมชนใกล้ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่กฎหมายกำหนดให้พื้นที่เหล่านี้ต้องมีสนามเด็กเล่น สนามกีฬา พื้นที่สีเขียวสำหรับชุมชนเอาไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการติดตามหรือตรวจสอบถึงขนาดว่าทุกโครงการมีการจัดทำบริการเหล่านี้ให้คนในชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

ยังเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้พื้นที่สีเขียวเกิดขึ้นในเมืองใหญ่

‘คิดว่าได้’ ถ้าหากเรายอมรับว่ามูลค่าทางนิเวศมันมีอยู่จริง และสำคัญก็มีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้มีพื้นที่ป่าในเมืองอย่างชัดเจน ปัจจุบันการปลูกต้นไม้ในเมืองทั้งกรุงเทพมหานครและหลายเมืองใหญ่ในโลกการปลูกต้นไม่ในเมืองปลูกในบริเวณที่เหลือ คำนึงถึงสาธารณูปโภคประเภทอื่นก่อนเสมอเราจะเห็นการวางท่อน้ำประปา เสาฟ้ากันอย่างจริงจังนั่นเป็นเพราะสังคมยอมรับว่าน้ำ และไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อวิถีชีวิต ดังนั้น หากเราทำให้ ‘ต้นไม้’กลายเป็นสาธารณูปโภคอย่างหนึ่งที่จำเป็นไม่แพ้ไฟฟ้า น้ำประปา อนาคตของป่าในเมืองก็มีความเป็นไปได้

“ถ้าเรามองว่าป่าในเมืองเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งที่สำคัญเท่ากับไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน โรงพยาบาล อนาคตของพื้นที่สีเขียวในเมืองก็เกิดขึ้นได้”

ที่สำคัญป่าในเมืองนี้ไม่เพียงแต่ต้องถูกกำหนดพื้นที่ ขนาดที่ชัดเจนเท่านั้นแต่ควรกระจายตัวตามจุดต่างๆ ของเมืองเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากมันได้ด้วย ดังนั้นมุมมองของผู้กำหนดนโยบายที่มีความเข้าใจเรื่องนี้จึงมีผลต่อการเกิดป่าในเมืองมาก

แนวคิดของคนในเมืองมีผลต่อหน้าตาของป่าในเมืองหรือไม่

มีผลมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญหรือจำเป็น คนจำนวนไม่น้อยมองว่าต้นไม้เป็นภาระต้องในการดูแลรักษา ดังนั้นนอกจากการเปลี่ยนทิศทางเชิงนโยบายแล้วต้องควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ของคนในสังคมด้วย  วิธีการหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยให้คนเห็นคุณค่า ความสำคัญของต้นไม้กมากขึ้นคือการประเมินมูลค่าทางนิเวศให้ออกมาเป็นตัวเลขเพื่อสื่อสารกับทุกคนได้ง่ายมากขึ้น เช่น การประเมินออกมาเป็น carbon credit มูลค่าจากการลด pm2.5 เป็นต้น นอกจากสังคมเกิดการรับรู้แล้วสิ่งที่จะทำให้คนเห็นว่าต้นไม้มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริง ๆ ต้องดึงให้คนในเมืองหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวกการสร้างพื้นที่สีเขียวด้วย เช่น การให้พวกเขาได้ร่วมลงมือปลูกต้นไม้ การออกแบบกิจกรรมที่ทำให้คนในชุมชนได้ใกล้ชิดกับต้นไม้มากขึ้นก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดรักษามิฉะนั้นแล้วจะเป็นพวกเขาเองที่ทำลายพื้นที่สีเขียวเหล่านี้

ไม่ใช่แค่เพื่อคนในเมือง แต่เพื่อเผ่าพันธุ์อื่นในเมืองด้วย

การกำหนดพื้นที่ป่าในเมืองไม่ได้เกิดมาเพื่อคนเท่านั้น แต่ยังเกิดเพื่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่อาศัยในเมือง หรือต้องการพื้นที่ธรรมชาติในการพักพิงด้วย เช่น นกอพยพตามฤดู หากเมืองขนาดใหญ่ไม่มีพื้นที่ธรรมชาติให้นกเหล่านี้ลงมาพักอาศัยระหว่างอพยพท้ายที่สุดมันก็จะตาย หรือเข้าไปอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนสร้างความเสียหายให้กับคนในเมือง ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นไม่สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้

“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์เราจะอาศัยอยู่แต่เพียงลำพังโดยไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่น เราต้องรักษาความสมดุลของระบบนิเวศที่เราต้องแบ่งทรัพยากรเหล่านี้ให้แก่กันและกัน”

จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดป่าในเมืองได้แก่ (1)นอกจากมุมมองของผู้กำหนดนโยบายและคนในเมือง (2) กฎหมายงบประมาณ (3) การมีส่วนร่วมของคนในเมือง นอกจากนี้แล้วยังมีอะไรที่มองว่าเป็นความท้าทายสำหรับการเกิดป่าในเมืองหรือไม่?

ความท้าทายของการสร้างป่าในเมือง

คิดว่าคือการหาทางสื่อสารให้คนในเมืองทุกกลุ่มเห็นว่าป่าในเมืองมีมูลค่า และจำเป็นสะท้อนให้เห็นว่าปริมาณต้นไม้มีผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างไร เพราะถ้าเห็นความเชื่อมโยงกับชีวิต สุขภาพก็จะสามารถเปลี่ยนทัศนะของคนที่ไม่เห็นคุณค่าของต้นไม้ให้หันมาตระหนักในแง่นี้มากขึ้น โดยส่วนตัวตอนนี้มองว่าคนไม่เห็นคุณค่าที่จะปลูกเพราะมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะปลูก เนื่องจากยังกังวลในเรื่องการดูแลรักษา ทำความสะอาด และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่นกิ่งไม้หักทำลายทรัพย์สินเสียหาย จึงเชื่อว่าหากมีการชั่งน้ำหนักกับผลกระทบทางสุขภาพแล้วคนกลุ่มเหล่านี้จะเปลี่ยนทัศนะได้ง่ายขึ้น

ในกรณีของต่างประเทศจะมีการสื่อสารด้วยวิธีการนี้โดยศึกษาเก็บข้อมูลการอาการเจ็บป่วยของคนที่อาศัยอยู่ในย่านเพื่อวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์กับปริมาณต้นไม้ แต่เนื่องจากกณีของคนไทย คนในย่านไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดียวกันเสมอไปทำให้เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาเปรียบเทียบได้ยากกว่า

ความไม่เท่าเทียมกันทางสิ่งแวดล้อมบางครั้งมาจากความพยายามรักษาความมั่นคงในชีวิต

หลังจากพูดคุยถึงความเป็นได้ และอุปสรรคที่กำลังเผชิญ อีกมุมมองน่าสนใจที่อาจารย์กนกวลีได้แลกเปลี่ยนคือ ‘เหตุผลในการปฏิเสธต้นไม้’ ในหลายประเทศแม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณปลูกต้นไม้ มีการจัดาพันธุ์และเจ้าหน้าที่มาปลูกต้นไม้ตามหน้าบ้านพัก แต่เจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยปฏิเสธทั้งที่จะทำให้บริเวณบ้านของตนร่มรื่น สาเหตุสำคัญมาจากความกังวลว่า หากสภาพแวดล้อมในย่านที่ต้นอาศัยสวยงามน่าอยู่มากขึ้นที่ดินบริเวณดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยกเลิกสัญญาเช่า หรือสิทธิในการอยู่อาศัยด้วย

ป่าในเมืองจึงมิใช่เพียงการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของเมืองใหญ่เท่านั้น แต่โครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่โลกจำเป็นต้องคำนึงถึงนี้ ยังต้องออกแบบโดยนึกถึงความต้องการ พื้นเพของคนที่อาศัยในเมืองด้วย

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ

อ้างอิง
ศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว, การทบทวนแนวคิดป่าในเมือง https://progreencenter.org/2018/01/22/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99/

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น