Nikkei Asia ออกสกู๊ปข่าวใหญ่ ‘วิกฤตสาธารณสุขที่อันตรายที่สุดในเอเชียไม่ใช่โควิด -19 แต่คือ มลพิษทางอากาศ’

สำนักข่าวญี่ปุ่น Nikkei Asia ออกสกู๊ปข่าว The Big Story ในหัวข้อ Air pollution: Asia’s deadliest public health crisis isn’t COVID หรือ มลพิษทางอากาศ: วิกฤตสาธารณสุขที่อันตรายที่สุดในเอเชียไม่ใช่โควิด -19 เพื่อแสดงให้เห็นอันตรายจากสถานการณ์มลพิษทางอากาศในภูมิภาค ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียล้มเหลวในจัดการคุณภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในโลกที่ค่อยๆ คร่าชีวิตคนหลายล้านคนจากความตายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

Nikkei Asia ได้รายงานสรุปสถานการณ์มลพิษทางอากาศและสาเหตุในประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น

ประเทศไทย – หมอกควันแผ่ปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทยอย่างน้อยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ต้องทนทุกข์จากฝุ่น PM2.5 ที่วัดค่าได้ระดับสูงสุดในโลกบ่อยครั้ง

วิกฤตมลพิษในภาคเหนือของไทยมาจากการเผาโดยเจตนาเพื่อเผาป่าและการเผากำจัดเศษพืช ฟางข้าว และเศษข้าวโพด มีการคำนวณว่าเศษข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวในแต่ละปีของประเทศไทยมีปริมาณเท่ากับตึกมหานคร 35 ตึก โดยมลพิษจากการเผาทำให้อัตราการเกิดมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจสูงของคนในพื้นที่สูงขึ้น

อินโดนีเซีย – อินโดนีเซียสร้างมลพิษจำนวนมากจากการจุดไฟเพื่อเคลียร์พื้นที่เพาะปลูกผลผลิตให้บริษัทในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและน้ำมันปาล์ม ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นสองประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าหมอกควันในปี 2015 ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 100,000 คนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากมลพิษทางอากาศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000 ล้านดอลลาร์

วิกฤตหมอกควันในภูมิภาคกระตุ้นให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (AATHP) ในปี 2002 แต่การดำเนินการก็ล้มเหลวโดยอาจมีสาเหตุมากจากหลักจรรยาบรรณในการไม่แทรกแซงกิจการร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน

บังคลาเทศ – บังคลาเทศมีประชากรมากกว่า 165 ล้านคน และด้วยขนาดพื้นที่ทำให้ความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าเมียนมาร์ถึง 15 เท่า ตามดัชนีคุณภาพอากาศโลกปี 2020 โดย IQAir บังคลาเทศเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก โดยมี PM2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 77.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

อุตสาหกรรมทำอิฐเป็นหนึ่งในผู้ก่อมลพิษหลัก ซึ่งมีเตาที่กำลังเผาไม้และถ่านหินประมาณ 7,000 เตาทั่วประเทศ เฉพาะในเมืองธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ มีเตาเผาอยู่ถึง 1,000 เตา ในฤดูแล้งฝุ่นควันและหมอกกำมะถันจะปกคลุมเมืองที่มีประชากรอาศัยกว่า 21 ล้านคน ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา รัฐบาลด้ปิดเตาเผาประมาณ 560 เตา แต่ก็ไม่สามารถทำให้อากาศดีขึ้นได้ เพราะโรงงานก็จะเปิดเตาเผาใหม่ขึ้นมาในเวลาไม่นาน

อินเดีย – จากข้อมูล AQI ปี 2020 คุณภาพอากาศของเมืองเดลีดีขึ้นจริงประมาณ 15% จากปี 2019 เนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศเพราะโควิด-10 แต่ถึงอย่างนั้นคุณภาพอากาศของเมืองเดลีก็ยังคงเลวร้ายที่สุดในโลก

มลพิษทางอากาศในอินเดียคร่าชีวิตผู้คนในเดลีไปประมาณ 54,000 รายในปี 2020 และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจไปถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 13% ของ GDP ต่อปีของเดลี ตามการศึกษาร่วมกันล่าสุดของกรีนพีซและ IQAir

22 จาก 30 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกอยู่ในอินเดีย แม้จะมีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศแต่ระดับมลพิษยังคงสูงอย่างเป็นอันตราย ความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีของเดลีอยู่ที่ 84.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอให้ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย แต่มีพื้นที่เพียง 8% ของโลกเท่านั้นที่มีอากาศสะอาดถึงเกณฑ์นี้ ในบรรดาเมืองทั่วโลกที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในปีที่ 2020 จากการจัดอันดับโดย IQAir พบว่าประเทศใน148 อันดับแรกล้วนอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cardiovascular Research ระบุว่า จากข้อมูลล่าสุดที่มีในปี 2015 มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตมนุษย์กว่า 8.8 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกือบ 6.5 ล้านคนในจำนวนนั้นอาศัยอยู่ในเอเชีย ความรุนแรงนี้ทำให้เป็นมลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก – ใหญ่กว่าปัญหาการสูบบุหรี่ด้วยซ้ำ

กองทุนสาธารณะจำนวนมากถูกโอนถ่ายไปใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่มลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการแก้ไขเนื่องจากความเชื่องช้าของการทำงานของรัฐ หากนำจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีจากหมอกควันตามข้อมูลของปี 2015 รวมกันจนถึงปีปัจจุบัน จะมีจำนวนทวีคูณมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 รายจากโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 2020 ตามข้อมูลที่รวบรวมไว้ใน worldometers.info

มลพิษทางอากาศ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่าง ๆ (3.9)
- SDG 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด ในประเด็น การเข้าถึงพลังงาน (7.1) และ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2) 
- SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย จ่ายได้ และคำนึงคนเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ด้วย (11.2) และการจัดการมลพิษทางอากาศและของเสีย (11.6)
- SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4)
- SDG 13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ (13.2)

ที่มา: Nikkei Asia

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น