สภาฯ พิจารณา 7 ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด หวังลดมลพิษฝุ่น PM2.5 จับตาการลงมติต่อในการประชุมครั้งหน้า

วันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมวาระการพิจารณาเรื่องด่วน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน” โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธาน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด มีทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดย 6 ฉบับเสนอโดยรัฐบาลและพรรคการเมือง ได้แก่ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และก้าวไกล ส่วนอีก 1 ฉบับ เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด 

ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ ประกอบด้วย 

  • ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ร่างโดยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
  • ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. ร่างโดยพรรคเพื่อไทย
  • ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. ร่างโดยพรรคภูมิใจไทย
  • ร่าง  พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ร่างโดยพรรคพลังประชารัฐ
  • ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. ร่างโดยพรรคประชาธิปัตย์
  • ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. … ร่างโดยพรรคก้าวไกล
  • ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.…. ร่างโดยเครือข่ายอากาศสะอาดฯ

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งหลายข้างต้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประสงค์อภิปรายทั้งสิ้น 56 คน โดยในวันที่ 11 มกราคม อภิปรายไปแล้ว 32 คน เหลืออีก 24 คนที่ประสงค์จะอภิปรายต่อในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะมีการลงมติรับหลักการหลังจากนั้น พร้อมเข้าสู่การพิจารณาขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ มีคำชี้แจงจากผู้เสนอร่างที่น่าสนใจ เช่น พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงถึงฉบับที่ร่างโดยรัฐบาลว่า “ปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นและฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปี และปลายปี ของทุกปี จึงต้องมีกลไกในการจัดการ ทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ กำหนดให้มีการพัฒนา และบูรณาการปัญหาทุกภาคส่วน และให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน กำหนดแผนการดำเนินการ บอกสาเหตุ ป้องกันการปลดปล่อยฝุ่นควันเข้าสู่สิ่งแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบประเมินคุณภาพอากาศ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการจัดการในสถานการณ์วิกฤติ พัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดอากาศและส่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน”

ด้าน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ชี้แจงถึงร่างฉบับก้าวไกลว่า “หลักการและเหตุของร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีคณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามแดน ซึ่งมีภาคประชาชนมามีส่วนร่วมในระดับจังหวัด ซึ่งพรรคก้าวไกลมีจุดที่แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง คือเราให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อยู่ในพื้นที่ ที่เรามั่นใจว่าจะสามารถทำงานแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างน้อย 4 ปี ไม่ใช่มาปีสองปีแล้วก็ไป มาเป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนการแก้ไขระดับจังหวัดตรงนี้”

ขณะที่ คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เสนอ “ร่างเครือข่ายอากาศสะอาด” ชี้แจงว่า “ต้องการให้คนมาดูแลผู้ใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมถึงอาจเพิ่มเติมหน้าที่ใหม่ ต้องทำเพื่อสุขภาพด้วย ถือเป็นเหตุผลหลัก ตามคำขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร โดยจะมีคำว่าบูรณาการอยู่ด้วย ซึ่งจะแก้ปัญหาร่วมกันทั้งในเรื่องสิทธิการได้รับอากาศสะอาด สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน  ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหายังไม่มากพอ อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดทางกฎหมาย โดยในร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนได้เสนอ 3 ระดับคือ ระดับนโยบาย ระดับการดูแล ระดับปฏิบัติการ พร้อมเสนอให้มีกองทุนอากาศสะอาด เพื่อช่วยเหลืออุดหนุนการแก้ปัญหา”

น่าจับตาต่อไปว่าการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2567 จะมีการอภิปรายที่น่าสนใจใดอีกบ้าง และสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาลงมติรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับใด เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
WHO ชี้ ประเทศที่ยากจนยังตามหลังประเทศที่ร่ำรวยในการเข้าถึงอากาศสะอาด ตามเกณฑ์ของ AQGs
SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน II : สิทธิอากาศสะอาดในอินโดนีเซีย
ครบรอบ 50 ปี ‘พ.ร.บ. อากาศสะอาด ปี 1970’ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของสหรัฐอเมริกา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา : “ลงมติรับหลักการ สัปดาห์หน้า” 7 ร่าง พรบ.อากาศสะอาด (GreenNews)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น