ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซา แสดงให้เห็นการเกิดไฟป่าทั้งห้าทวีป ภายในเวลาปีเดียว

ในทุกๆ ปี ไฟป่าทั่วโลกเกิดจากความแห้งแล้ง ฟ้าผ่า การเผาเศษซากพืชที่เหลือจากการทำการเกษตร และกิจกรรมของมนุษย์อื่นๆ ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของ NASA เผยให้เห็นเส้นทางการเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ทั้งห้าทวีปทั่วโลกภายในช่วงเวลาเพียงปีเดียว (พฤศจิกายน 2019 – ตุลาคม 2020)

ช่วงเวลาปกติของเดือนสิงหาคม 70% ของไฟป่าทั่วโลกเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีการแผ้วถางที่ดินเพื่อทำการเกษตรและก่อให้เกิดไฟป่าหลังฤดูแล้ง ไฟป่าจะเกิดขึ้นทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรในช่วงฤดูหนาวถึงช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ในทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรจะเกิดไฟป่าในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม

สำหรับในสหรัฐอเมริกา ไฟป่าที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม และกันยายน ปี 2020 เป็นไฟป่าที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดควันไฟกระจายปกคลุมพื้นที่หลายเมือง เช่น ซาน ฟรานซิสโก ที่ต้องประสบปัญหาหมอกควันอยู่หลายสัปกาห์

การเผาเศษซากพืชหลังการทำการเกษตรเพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกรอบต่อไปในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย ทำให้คุณภาพอากาศที่แย่อยู่แล้วแย่ขึ้นไปอีกสำหรับชาวเมืองราว 30 ล้านคน

ในทวีปออสเตรเลีย ไฟป่าตามฤดูกาลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ในปี 2019 และ 2020 อุณหภูมิเฉลี่ยในทวีปสูงเป็นประวัติการณ์และมีฝนตกน้อยมาก สภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติทำให้ไฟป่าในฤดูไฟป่าที่กำลังจะมาถึงรุนแรงยิ่งขึ้น

ดูแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงการเกิดไฟป่าทั่วโลกตามลำดับเวลาที่ National Geographic

 ไฟป่า เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 2 ยุติความหิวโหย ในประเด็น เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนาคุณภาพดินได้ (2.4)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่าง ๆ (3.9)
- SDG 6 น้ำและสุขาภิบาล ในประเด็น มลพิษทางน้ำและการบำบัดน้ำเสีย (6.3) และการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง (6.6)
- SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (12.2), การลดของเสียที่เป็นอาหาร (food waste) (12.3) และ ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle (12.5)
- SDG 13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (13.1) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)
- SDG 15 ระบบนิเวศบนบก ในประเด็น การบริหารจัดการ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ทุกประเภท (15.2) การอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพ (15.4) และ ลดความเสือมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์ต่าง ๆ (15.5)

Last Updated on พฤษภาคม 5, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น