บทเรียนผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชอร์โนบิลสู่เหตุไฟไหม้โรงงานผลิตโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21 เมื่อสองวันที่ผ่านมา ชวนให้รำลึกถึงบทเรียนการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในนิคมเชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียต เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1986 ซึ่งเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของหายนะที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากที่สารกัมมันตรังสียังคงตกค้างอยู่ในเมือง และละแวกใกล้เคียง ไปจนถึงข้อคำถามที่มีต่อการบริหารจัดการวิกฤติสาธารณภัย

โดยแม้ว่าจะไม่สามารถเปรียบเทียบผลกระทบด้านลบจากสารกัมมันตรังสีกับสารเคมีได้เลยเสียทีเดียว แต่เหตุการณ์ในเชอร์โนบิลวันนั้น อาจช่วยทิ้ง ‘ข้อคิด’ สำคัญบางประการ ที่นำมากระตุ้นเตือนเราได้บ้างในบางมิติ และให้เท่าทันเมื่อประสบกับสถานการณ์สาธารณภัยเช่นนี้

บทวิเคราะห์จาก European Association of Geochemistry สรุปข้อคิดสำคัญ 5 ข้อไว้ ดังนี้

  1. ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อม (environmental disaster) ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งไม่รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบในระยะยาว โดยอาจกินเวลาเป็นปี ๆ หรือกระทั่ง ศตวรรษเลยก็เป็นได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อน้ำ อากาศ ดิน สิ่งมีชีวิต และมนุษย์
  2. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมยากที่จะแก้ไข เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรามีในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอที่จะใช้แก้ไขและจำกัดผลกระทบที่ตามมาได้ ซึ่งไม่ใช่แค่อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์อย่างที่เกิดขึ้นกับเชอร์โนบิล แต่รวมถึงสถานการณ์อื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน อาทิ การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่สภาพแวดล้อม การระเบิดหรืออัคคีภัยจากสารเคมี (chemical explosion) อาวุธเคมี (chemical weapon) การรั่วไหลของน้ำมัน (oil spill)
  3.  ความพยายามที่จะลดความเสียหายย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแลกมา ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมีค่าจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังต้องใช้เวลาและอาจจะต้องแลกกับชีวิตมนุษย์อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การสร้างอาคารสูงขึ้นมาเพื่อครอบซากโรงไฟฟ้าที่มีกัมมันตรังสีรุนแรงตกค้างอยู่ในนิคมเชอร์โนบิลนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 100 ปี เท่านั้น
ภาพอาคารสูงที่ครอบซากโรงไฟฟ้าที่มีกัมมันตรังสีรุนแรงตกค้างอยู่: bbc.com
  1. การเพิกเฉยต่อปัญหาไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป แต่กลับทำให้ปัญหาเหล่านั้นแย่ลง สาเหตุหลักที่ทำให้สถานการณ์ในเชอร์โนบิลเลวร้ายก็มาจากการเพิกเฉยต่อปัญหาและความพยายามที่จะปิดบังข้อมูลอันเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมืองและการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่สู้ดีนัก
  2. วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เราสามารถเข้าใจปัญหา และสามารถหาทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องได้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573
#SDG11 สร้างเมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ปลอดภัย
– (11.3) การพัฒนาเมืองให้ครอบคลุมและยั่งยืน การวางแผนและบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการ และยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.5) ลดการจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบ และลดการสูญเสียจากภัยพิบัติ (disasters)
#SDG16 ส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล ความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) มีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

#SDGWatch #IHPP #SDG3 #SDG11 #SDG16

แหล่งที่มา:
https://blog.eag.eu.com/news/five-important-things-to-learn-from-the-miniseries-chernobyl/

Author

  • Sorravit Ma

    Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น